ทางรอด ‘การบินไทย’  ‘บรรยง’ แนะฟื้นฟูตามก.ม.ล้มละลาย        

17 พ.ค. 2563 | 03:40 น.

“บรรยง พงษ์พานิช” เปิดทางรอด “การบินไทย” ชี้โควิด-19 เป็นแรงกระตุ้นให้ต้องผ่าตัดใหญ่ เหตุจากสถานะการเงินก่อนเกิดโควิด ก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อยู่แล้ว แนะทางออกเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามก.ม.ล้มละลาย

“บรรยง พงษ์พานิช” เปิดทางรอด “การบินไทย” ชี้โควิด-19 เป็นแรงกระตุ้นให้ต้องผ่าตัดใหญ่ เหตุจากสถานะการเงินก่อนเกิดโควิด ก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อยู่แล้ว แนะทางออกเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย เพื่อไม่ปล่อยทิ้งให้ธุรกิจล้มละลาย รวมถึงลดความเป็นรัฐวิสาหกิจ  ชี้เปิดน่านฟ้าเสรีกระทบบินไทย แต่เป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว

 

ปัญหาการบินไทย เดิมก็ย่ำแย่อยู่แล้วเกิดโควิด-19 ตายสนิท กางปีกบินต่อไม่ไหว จากพิษของไวรัส ซึ่งแนวทางการแก้ไขวันนี้ การบินไทยกำลังอยู่ในทาง 2 แพร่ง

 

“แผนการฟื้นฟูตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)” ซึ่งจากแผนปฏิบัติดังกล่าว ยังมีปัจจัยเสี่ยงถึง 23 ปัจจัยเสี่ยง ที่อาจทำให้รัฐเสียหายจากเม็ดเงินนับ 1.2 แสนล้านบาท ที่ต้องเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท เพื่อประคองสภาพคล่องให้การบินไทยได้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคมนี้

 

ทั้งการเพิ่มทุนอีก 8 หมื่นล้านบาท ที่หากยังไม่สามารถทำให้ความเสี่ยงหมดไป

ทางรอด ‘การบินไทย’  ‘บรรยง’ แนะฟื้นฟูตามก.ม.ล้มละลาย        

 

อีกหนึ่งแนวทางแก้ไข คือ การนำการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และการบินไทย ต้องหารือทางออกร่วมกัน แต่การตัดสินใจจะสรุปทางไหน ขึ้นอยู่กับที่ประชุมครม. “บิ๊กตู่” ที่ต้องตัดสินใจ

 

แต่สำหรับทางรอดที่ดีสุดในมุมมองของกูรูด้านการเงินและผู้มีความรู้เรื่องธุรกิจการบิน “บรรยง พงษ์พานิช” มองว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นตามกฎหมายล้มลาย เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการบินไทย

 

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และอดีตกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานะการดำเนินธุรกิจของการบินไทย ถ้าไม่เกิดกรณีโควิด ก็มีปัญหาที่จะไปไม่รอดอยู่แล้ว โดยในปี 2562 ต้องถือว่าเป็นปีที่ดีมาก สายการบินระดับพรีเมียมทุกสายการบินมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 80%  ทำคนได้กำไรดี ธุรกิจการบินโลกมีกำไรหลักแสนล้านบาท ทุกสายการบินต่างมีกำไร มีการบินไทยที่ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท

 

ทางรอด ‘การบินไทย’  ‘บรรยง’ แนะฟื้นฟูตามก.ม.ล้มละลาย        

แสดงว่าคุณมีปัญหา และเมื่อดูจากสถานะทางการเงินในปีที่แล้ว ก็เห็นชัดว่าก่อนเกิดโควิดการบินไทยก็ไม่รอดอยู่แล้ว กับภาระหนี้ 2 แสนล้านบาท ทุนเมื่อสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท แต่หลังเกิดโควิดทุนเป็นและผมมั่นใจว่าในขณะนี้ติดลบอย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาท

 

หลังเกิดโควิดรัฐบาลของประเทศต่างๆ ก็ใส่เงินช่วยสายการบิน สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ก็ถูกใส่เงินลงไป 3 แสนล้านบาท ลุฟท์ฮันซ่า รัฐบาลเยอรมนี และออสเตรเลีย ใส่เงินให้มากกว่า 2 แสนล้านบาท แอร์ฟรานซ์ ก็ได้รับการใส่เงินจากรัฐบาลแสนล้านบาท ซึ่งประเทศอื่นเขาใส่เงินให้ไป ก็มองว่าหลังโควิด สายการบินเหล่านี้ก็จะทยอยกลับมามีกำไรเหมือนเดิม

 

แต่สำหรับการบินไทย ใส่เงินเพิ่มไปกลับมาขาดทุนเหมือนเดิม อย่าใส่ดีกว่า ที่ผ่านมาปัญหาการบินไทยสะสมมานาน ผมไม่บอกใครผิดใครถูก แต่ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลต้องช่วยการบินไทยไม่ให้ล้มละลาย แต่ต้องผ่าตัดองค์กรนี้ก่อน ไม่งั้นก็เหมือนตำน้ำพริกโปรยลงท้องฟ้า

 

ผมเสนอว่ารัฐบาลไม่ควรไปค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย เพราะผู้ค้ำประกันไม่ได้มีอำนาจต่อรองตามกฎหมาย แต่ผมไม่ค้านที่รัฐบาลจะใส่เงินโดยให้การบินไทยกู้ แม้ว่าการให้กู้หรือการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐบาลจะมีค่าเท่ากัน ความเสี่ยงเท่ากัน แต่ผู้ให้กู้ จะมีอำนาจในการต่อรองตามกฎหมาย ต่อรองกับเจ้าหนี้ สหภาพพนักงานได้

ทางรอด ‘การบินไทย’  ‘บรรยง’ แนะฟื้นฟูตามก.ม.ล้มละลาย        

 

จากนั้นก็ประกาศเข้าสู่กระบวนการฟิ้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งการทำแบบนี้ ก็เพื่อให้ทำแผนมีอำนาจเรียกเจ้าหนี้มาต่อรองขอลดหนี้ สามารถตั้งเงื่อนไขให้กู้ทีหลัง ขอคืนก่อนได้ ถ้าเจ้าหนี้ยอม หามืออาชีพเข้าบริหาร รูปแบบก็เป็นเหมือน สวิสแอร์, ยูไนเต็ดแอร์ไลน์, เจแปนแอร์ไลน์ และผมก็มองว่าถ้าให้ดีควรจะมีการเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ เปลี่ยนหนี้เป็นทุนบางส่วน (ถ้าเจ้าหน้ายอม) เพื่อให้รัฐจะได้ไม่ถือหุ้น 50% เพื่อไม่ให้นักการเมือง ข้าราชการเข้ามาหาผลประโยชน์ในการบินไทยได้

 

คนที่จะมาบริหารแผนตามกระบวนการฟื้นฟูหรือนั่งบอร์ดการบินไทย ควรเป็นคนมืออาชีพ ซึ่งผมแนะนำ นายชุมพล ณ ลำเลียง เนื่องจากท่านเป็นคนไทยไปนั่งเป็นกรรมการ บริติซ แอร์เวย์ส ถึง 10 ปี ความรู้เรื่องการบินดีมาก เป็นประธานบริษัทสิงคโปร์ เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด เคยฟื้นฟูปูนซิเมนต์ไทย และแก้วิกฤติไทยพาณิชย์ แต่ท่านอายุ 70 ปีแล้ว แต่กฎหมายไทยกำหนดว่ากรรมการบริษัทจะต้องอายุไม่เกิน 65 ปี ซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่าควรจะมีการแก้ไข

 

หรือดึงคนมีความสามารถจริงๆ เข้ามาร่วมบริหาร แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้บริหารมืออาชีพจะไม่สามารถเข้ามานั่งบอร์ดหรือเป็นดีดีการบินไทยได้ เพราะติดกม.ที่ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจต้องไม่เคยอยู่ในกิจการค้าขายกับการบินไทยเกิน 5 ล้านบาท ซึ่งบริษัทไหนก็ค้าขายกับการบินไทยทั้งนั้น ทำให้ผู้บริหารจึงกลายเป็นรัฐมนตรีเลือกมา ทหาร ข้าราชการ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

 

นอกจากหลายคนก็โทษว่าเรื่องการ เปิดน่านฟ้าเสรี ซึ่งจริงอยู่ที่การบินไทยได้รับผลกระทบจากการเปิดน่านฟ้าเสรีเมื่อปี 2547 ซึ่งตอนนั้นไทยมีนักท่องเที่ยว 18 ล้านคน มีคนขึ้นเครื่องในทุกสนามบินของไทย 18 ล้านคน แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วไทยมีนักท่องเที่ยว 37 ล้านคน มีคนบินทั้งประเทศ 180 ล้านคน มีโลว์คอสต์แอร์ไลน์เกิดขึ้น โลกเล็กลง ผู้บริโภคได้ตั๋วราคาถูกลง ซึ่งถ้าไม่เปิดน่านฟ้าเสรี การบินไทยบินเดียวไม่มีทางที่ไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยว 2.2 ล้านล้านบาท นโยบายนี้แม้กระทบการบินไทยแต่ก็เป็นผลดีต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 

หน้า 21 - 22  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,575 วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563