DPU จัดเต็ม ‘ออนไลน์’  รับมือไวรัส

07 พ.ค. 2563 | 03:05 น.

ธุรกิจบัณฑิตย์ เตรียมพร้อมเปิดสอนผ่านช่องทางออนไลน์ ประเดิม “ซัมเมอร์” นี้ ย้ำโครงสร้างพื้นฐาน ด้านโทรคมนาคมเป็นปัจจัยหลักต่อการเรียนการสอน ขณะที่พิษโควิด-19 ทำนักศึกษาสมัครเรียนดีเลย์

 

ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีความพร้อมเต็มที่ในการเปิดทำการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งในรูปแบบการไลฟ์สด และวิดีโอ คลิป ซึ่งจะเริ่มใช้ในภาคการเรียนซัมเมอร์ ที่จะเริ่มในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้ปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับนักศึกษา ขณะเดียวกันการเรียนการสอนก็มีประสิทธิภาพเช่นเดิม

 

 “มหาวิทยาลัยมีระบบ LMS ระบบบริหารจัดการการเรียนรู้อยู่แล้ว ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนในระบบออนไลน์ได้ทันที ขณะที่บางวิชา ที่ต้องการการปฏิสัมพันธ์ พบปะ แลกเปลี่ยนกัน การทำกิจกรรมร่วมกัน เชื่อว่าการเรียนแบบออฟไลน์จะได้ประสิทธิผลที่ดีกว่า”

ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู

 

ทั้งนี้สำนักนวัตกรรมการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเตรียมพร้อมการจัดอบรมให้กับอาจารย์ สำหรับการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว โดยระบบการเรียนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยจะมี 2 รูปแบบคือ การไลฟ์สด และวิดีโอ คลิป ซึ่งเบื้องต้นจะจัดส่งวิดีโอ คลิปให้นักศึกษาได้ศึกษาก่อน และเมื่อไลฟ์สด ก็จะมีการแลกเปลี่ยน หรือซักถามในข้อสงสัยเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ดีมองว่า ออนไลน์ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนการสอนที่จะช่วยให้นักศึกษาสามารถทบทวนเนื้อหาสาระ ได้ย้อนหลัง อีกทั้งจากการวิจัยพบว่า นักศึกษากว่า 90% ยังต้องการการเรียนในมหาวิทยาลัย ต้องการพบปะอาจารย์ เพื่อน และสังคม เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญกับการเรียนออฟไลน์และออนไลน์ผสมผสานกันไป หลังจากสถานการณ์ต่างๆ เข้าสู่ภาวะปกติ

 

ทั้งนี้เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของอินเตอร์เน็ต ไว-ไฟ ที่จะช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ หากเปรียบออฟไลน์ โครงสร้างหลักคือ ห้องเรียน ว่าพร้อมหรือไม่ ออนไลน์ โครงสร้างหลักก็คือ อินเตอร์เน็ต ว่ามีความพร้อมหรือไม่เช่นกัน

ดร.พัทธนันท์ กล่าวว่าวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมทุกภาคส่วน รวมถึงผู้ปกครองของนักศึกษาด้วย เบื้องต้นอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการสมัครเรียนในภาคการศึกษาใหม่ แต่อาจทำให้การตัดสินใจสมัครเรียนช้าออกไป เนื่องจากมาตรการต่างๆ และต้องเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครผู้เรียนทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก รวม 3,000 - 4,000 คน ทั้งในหลักสูตรปกติและหลักสูตรอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีนักศึกษาจากต่างประเทศ  อาทิ จีน สปป.ลาว เวียดนาม ฯล คิดเป็นสัดส่วนราว 20% จากจำนวนนักศึกษากว่า 1 หมื่นคน

 

หนัา 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7 - 9 พฤษภาคม  2563