เปิดรายละเอียดประเมินราคาเครื่องบินพาณิชย์

17 เม.ย. 2563 | 02:37 น.

AREA ชี้แนวโน้มธุรกิจการบิน อาจต้องขายเครื่องบินเพื่อใช้หนี้ การประเมินราคาเครื่องบินพาณิชย์ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและต้องมีข้อมูลการซื้อขายจากต่างประเทศ ซึ่งราคาสูง

ในขณะนี้สายการบินต่างๆ กำลังย่ำแย่หนัก อาจต้องขายเครื่องบินทิ้งเพื่อใช้หนี้ จำนองกับสถาบันการเงิน หรือบางสายการบินอาจต้องปิดตัวไปเลยก็ได้ เครื่องบินที่มีอยู่มีราคาเท่าไหร่ประเมินอย่างไร

 ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส(www.area.co.th) ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่ประเมินค่าทรัพย์สินทุกประเภททั่วโลก และเป็นคณะทำงานระหว่างประเทศ the Appraisal Foundation ในกรุงวอชิงตันดีซี วิเคราะห์ว่าธุรกิจการบินในขณะนี้คงตกต่ำไประยะหนึ่ง โดยเฉพาะในปีนี้ อาจไม่สามารถบินได้มากนัก  ทำให้สภาพคล่องทางการเงินของสายการบินต่างๆ ย่ำแย่หนัก บางสายการบินอาจต้องขายเครื่องบินทิ้งเพื่อใช้หนี้ จำนองกับสถาบันการเงิน หรือบางสายการบินอาจต้องปิดตัวไปเลยก็ได้เครื่องบินที่มีอยู่มีราคาเท่าไหร่ ประเมินอย่างไร

นายโสภณ พรโชคชัย ประธาน AREA ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินเติบโตอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าเติบโตมาตั้งแต่การมีสายการบินราคาประหยัด (Low Cost Airline) ตั้งแต่เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีก่อน  ทำให้ธุรกิจการบินเติบโตขึ้นอย่างมาก หากพิจารณาจากยอดการผลิตเครื่องบิน ยอดการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินทั่วโลก นับว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด  นักบินกลายเป็น “มนุษย์ทองคำ” ที่มีมูลค่าสูงมากสำหรับสายการบินต่างๆ

อย่างไรก็ตามจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 สถานการณ์แปรเปลี่ยนไป  เราจะประเมินค่าเครื่องบินพาณิชย์ต่างๆ อย่างไร ในประเทศไทยอาจมีการประเมินค่าเครื่องบินพาณิชย์ไม่มากนัก  แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการประเมินค่าทรัพย์สินกันอย่างกว้างขวางขนาดที่มีการประเมินแบบDesk Top Valuation หรือใช้ข้อมูลจากคำบอกเล่าสภาพเครื่องบิน แล้วประเมินโดยใช้แบบจำลองทางสถิติและฐานข้อมูลที่มีอยู่อย่างกว้างขวางมาช่วย 

“สนนราคาค่าจ้างสำหรับการประเมินเครื่องบินขนาดเล็กๆ ลำหนึ่งอาจเป็นเงินเพียง 15,000 - 18,000 บาทเท่านั้น  ถูกกว่าค่าจ้างประเมินบ้านหลังใหญ่ๆ สักหลังในกรุงเทพมหานครแบบที่ต้องออกไปสำรวจตัวบ้านเสียอีก”

อย่างไรก็ตาม Desk Top Valuation เป็นเพียงการประมาณราคาเบื้องต้น ในรายละเอียดเราต้องสำรวจตัวเครื่องบิน  แต่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินไม่รู้จักกลไกของเครื่องบิน ในกรณีนี้ก็ต้องอาศัยความรู้ของวิศวกรเครื่องบินหรือผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเข้ามาช่วย

วิธีการประเมินค่าทรัพย์สินก็เป็นไปตามหลักสากล คือ วิธีการต้นทุนโดยหักค่าเสื่อม  วิธีการเปรียบเทียบตลาด และวิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่านั่นเอง  สิ่งที่พึงพิจารณาในที่นี้ก็คือ

            1. ใบรับรองการตรวจสภาพของเครื่องบินจากผู้เชี่ยวชาญ คล้ายการตรวจสภาพบ้านจากผู้เชี่ยวชาญ (House Inspector) เป็นต้น

            2. ฐานข้อมูลการซื้อขายเครื่องบินทุกประเภทในโลก ซึ่งต้องซื้อมา และมีราคาสูง

            3. ต้องศึกษาสถานการณ์โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้กระแสรายได้คงจะสะดุดไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้มูลค่าของทรัพย์สินที่ประเมินได้ต่ำกว่าเมื่อปลายปี 2562 เช่น ราคาในปี 2562 อาจเป็นเงิน 100 ในขณะนี้อาจไม่สามารถสร้างรายได้เป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นอัตราผลตอบแทนที่8% ดังนั้นมูลค่าที่ประเมินได้อาจลดลงไปประมาณ 7.6% (1/1.08) เป็นต้น

สถาบันการเงินใดที่ประสงค์จะรับจำนองเครื่องบิน หรือหน่วยงานใดประสงค์จะซื้อ จะขายเครื่องบิน ก็ควรจะทำการประเมินค่าให้ถ้วนถี่เสียก่อน เพราะเครื่องบินลำหนึ่งมีราคานับหมื่นล้าน จะปล่อยกู้โดยไม่ประเมินให้ถ้วนถี่หรือแค่ประเมินส่งเดช คงไม่ได้