จับตา 2 แม่ทัพยักษ์ธุรกิจ เล็ง‘ประตูตะวันตก’

28 ก.พ. 2563 | 01:30 น.

 

รายงาน : โดย โต๊ะเศรษฐกิจภูมิภาค

 

จับตา 2 แม่ทัพยักษ์ธุรกิจ เล็ง‘ประตูตะวันตก’

เหมือนไม่ได้ตั้งใจและไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่ห้วงเวลาห่างกันเพียงเดือนเศษ 2 แม่ทัพจาก 2 ยักษ์ธุรกิจไทยต่างไปปรากฏกาย ณ พรมแดนตะวันตก

วันที่ 25 ธันวาคม 2562 นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครื่องดื่ม และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไปเยือนแม่สอด ประตูบกฝั่งตะวันตกของไทย บนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC)

ถัดมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภค ภัณฑ์ ผู้รับไม้ต่อจาก “ธนินท์ เจียรวนนท์” ให้ถือธงนำอาณาจักรธุรกิจซีพี นำคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดระนอง ประตูการค้าทางทะเลด้านตะวันตก ตามยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) เพื่อไปเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอล (BIMSTEC)

จับตา 2 แม่ทัพยักษ์ธุรกิจ เล็ง‘ประตูตะวันตก’

ยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังขับเคลื่อนผ่านแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ชี้นำการขยับขยายอาณาจักรของยักษ์ใหญ่ธุรกิจไทยอย่างน่าจับตา เพราะยักษ์ธุรกิจไทยต่างขยับขยายไปปักธงลงทุนประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ เพื่อเป็นทั้งฐานการผลิตและตลาด ยิ่งหากยุทธศาสตร์เชื่อมเพื่อนบ้าน (Connectivity) ผนึกแน่นเท่าใด ยิ่งช่วยขยายตลาดและเชื่อมโยงฐานผลิตระหว่างกันเพิ่มขึ้นเพียงนั้น

การไปปรากฏกายที่แนวพรมแดนตะวันตกของ 2 บิ๊กธุรกิจของประเทศ แม้จะด้วยภารกิจอื่น แต่หากระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมไปยังเพื่อนบ้านได้รับการยกระดับและเปิดกว้างขึ้น ผลได้ย่อมเกิดกับแวดวงธุรกิจการลงทุนที่มีอยู่ไปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางลงพื้นที่แม่สอดของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี ซีอีโอค่ายไทยเบฟ ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ตามคำเชิญของผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ไปดูเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด)

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า การมาดูงานครั้งนี้จังหวัดตากจะได้ประโยชน์ในการต่อ ยอด และผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ที่คณะทำงานประชารัฐจะได้นำเสนอรัฐบาลต่อไป โดยเฉพาะการสร้างรายได้ กระจายรายได้ในระดับฐานรากตามแนว ทางประชารัฐ

จับตา 2 แม่ทัพยักษ์ธุรกิจ เล็ง‘ประตูตะวันตก’

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ไปเยือนแม่สอด (25 ธันวาคม 2562)

หลังฟังบรรยายสรุปนายฐาปน ลงพื้นที่ดูเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด-แม่ระมาด-พบพระ) สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และความก้าวหน้าระบบคมนาคมขนส่ง อาทิ ถนน 4 เลนสายตาก-แม่สอด ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก(East West Economic Corridor- EWEC) เชื่อมฝั่งทะเลอันดามันในเมียนมา ผ่านไทยที่แม่สอด ไปเข้าสปป.ลาวที่มุกดาหาร ไปออกเวียดนาม

 

นอกจากทางถนนแล้วจะมีการพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่แนวตะวันออกตะวันตก แม่สอด-นครสวรรค์-บ้านไผ่ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา ส่วนเส้นทางบ้านไผ่-นครพนม ครม.อนุมัติก่อสร้างแล้ว เมื่อแล้วเสร็จจะเชื่อมโยงฐานผลิตและตลาดในกลุ่ม CLMV อย่างสำคัญ

ขณะที่การเดินทางมาเยือนระนองของนายสุภกิตเจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ปลุกความหวังคนในพื้นที่ว่า เครือซีพีอาจลงโปรเจ็กต์ใหญ่ระดับพันล้านหรือหมื่นล้านในพื้นที่ จากยุทธศาสตร์จังหวัดที่เป็นประตูตะวันตกทางทะเล ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) ที่ครม.อนุมัติแผนงาน 116 โครงการ กรอบวงเงินปี 2562-2565 รวม 106,790.13 ล้านบาท

จับตา 2 แม่ทัพยักษ์ธุรกิจ เล็ง‘ประตูตะวันตก’

นายสุภกิต เจียรวนนท์ ขณะลงพื้นที่จังหวัดระนอง (6 กุมภาพันธ์ 2563)

โครงสร้างพื้นฐานสำคัญคือ ทางรถไฟสายใหม่แยกจากรถไฟทางคู่ที่ชุมพร วิ่งคู่ขนานไปกับถนนเพชรเกษม ถึงท่าเรือระนอง ระยะทาง 108 กม. มูลค่าโครงการ 45,844 ล้านบาท เพื่อใช้ท่าเรือระนองในการขนส่งสินค้า วัตถุดิบ และการเดินเรือเชื่อมโยงกลุ่มประเทศรอบอ่าวเบงกอล (กลุ่ม BIMSTEC) ย่านเอเชียใต้ สามารถไปถึงตะวัน ออกกลาง ยุโรป แอฟริกาได้

ในเบื้องต้นทางรถไฟสายใหม่นี้จะเชื่อมฐานผลิตหลักของไทยคือ พื้นที่อีอีซี สร้างทางเลือกเพิ่มในการขนส่งนอกจากท่าเรือแหลมฉบังแล้ว สินค้าที่จะไปเอเชียใต้อาจขนส่งทางรถไฟไปขึ้นท่าเรือระนอง เพื่อลดระยะเวลาการ ขนส่ง และรับวัตถุดิบจากต่างประเทศรวมถึงวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากพื้นที่ภาคใต้ ขนส่งไปป้อนฐานผลิตที่อีอีซี

ถัดไปหากรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ และทางลงทุนเพิ่มจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ต่อขึ้นไปขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย สามารถไปเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่เวียงจันทน์ และขยายเส้นทางจากกรุงเทพฯลงใต้ ก็สามารถแยกไปท่าเรือระนองได้ เท่ากับระบบรางเชื่อมโยงจากจีน ลาว เข้าไทย นอกจากจะลงไปพื้นที่อีอีซีแล้ว สามารถต่อลงใต้ถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ และแยกไปออกระนอง ประตูสู่มหาสมุทรอินเดียได้อีกด้วย

โครงข่ายโลจิสติกส์ไทยที่เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านรอบข้าง รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่าย “เส้นทางสายไหมใหม่” ของจีน ที่โยงทั้งทางบกและทางทะเล ที่จะเปิดทางตลาดและฐานการผลิตตลอดแนวสายทางที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,552 วันที่ 27 - 29 กุมภาพันธ์ 2563

จับตา 2 แม่ทัพยักษ์ธุรกิจ เล็ง‘ประตูตะวันตก’