ประเมินซอง3อู่ตะเภา BTS-หมอเสริฐ ควักได้ 3.05 แสนล.

23 ม.ค. 2563 | 07:40 น.

เปิดผลประเมินซอง 3 อู่ตะเภา เบื้องต้นพบข้อเสนอ BTS-หมอเสริฐมีความเป็นไปได้ในการจ่ายผลตอบแทน 3.05 แสนล้านบาทตลอดอายุสัญญา 50 ปี ด้านกทท. เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หลังศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น

 

หลังเสร็จสิ้นการเปิดเอกสารซอง 3 (ข้อเสนอด้านราคา)โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกแล้วเสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุดอยู่ที่ 305,555 ล้านบาท ทิ้งห่างเอกชนอีก 2 รายอย่างกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้งฯ (ซีพี) และพันธมิตรและกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียมร่วม 2 แสนล้านบาท

ทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยจากสังคมว่าการเสนอราคาที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนทางการเงินของเอกชนที่โครงการระบุไว้นั้นเอกชนจะทำได้หรือไม่ หรือถ้าได้งานไปแล้ว ทำไม่ได้จะเกิดการทิ้งงานหรือไม่ 

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการพิจารณาตรวจสอบรายละเอียดของข้อเสนอด้านราคา เช่น สมมติฐานและการประมาณการทางการเงินของเอกชน จะดำเนินการตรวจสอบโดยบริษัทที่ปรึกษาของโครงการที่ทางกองทัพเรือจ้างบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สฯ (PwC) มาดูเรื่องข้อเสนอทางการเงิน และยังมีที่ปรึกษาทางเทคนิคและทางอีอีซี ร่วมพิจารณาข้อเสนอในซอง 3 อยู่ในขณะนี้

 

ก่อนจะนำกลับมาหารือในการประชุมบอร์ดของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกอีกครั้ง เพื่อให้ได้ผู้ยื่นข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดแก่ภาครัฐ โดยคาดว่าจะประกาศผลการคัดเลือกได้ภายในเดือนมีนาคม 2563

 

ประเมินซอง3อู่ตะเภา BTS-หมอเสริฐ ควักได้ 3.05 แสนล.

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ในการประเมินเบื้องต้นพบว่าข้อเสนอมีความเป็นไปได้ เพราะมูลค่าของโครงการนี้อยู่ที่ 2.9 แสนล้านบาท (รัฐลงทุน 2 หมื่นล้านบาท เอกชนลงทุน 2.7 แสนล้านบาท) ดังนั้นการที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เสนอผลตอบแทนที่จะให้ภาครัฐอยู่ที่ 3.05 แสนล้านบาทตลอดช่วงอายุสัญญา 50 ปี การเสนอผลตอบแทนเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เอกชนจะยอมกำไรน้อยในช่วงแรก แต่ถ้าธุรกิจไปได้ดีหรือบูมขึ้นมาก็จะได้กำไรมากขึ้น

ในขณะนี้บริษัทที่ปรึกษากำลังอยู่ระหว่างพิจารณาแบบจำลองทางการเงิน (financial model) ที่แสดงรายได้รวมในแต่ละปี โดยคำนวณจากจำนวนผู้โดยสารแต่ละปี ผลประกอบการ ตลอดอายุโครงการ 50 ปี โดยรัฐจะได้ค่าเช่าพื้นที่และส่วนแบ่งรายได้ของโครงการ ซึ่งในส่วนของค่าเช่าที่ดินรวมอาคารสิ่งก่อสร้าง คิดที่ 3% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี และปรับเพิ่ม 9% ทุก 3 ปีและส่วนแบ่งรายได้ 5% ก่อนหักค่าใช้จ่าย โดยคิดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งก็คิดว่าข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ก็น่าจะดำเนินการได้ตามที่เสนอมา

อีกทั้งในทีโออาร์ยังระบุชัดเจนเรื่องการยึดเงินประกันและความรับผิดชอบของทุกบริษัทที่เข้ามาร่วมทำโครงการนี้ ทั้งนี้แผนของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส แกนหลักในการทำแผนคือบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ของนพ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจสนามบินอยู่แล้ว และการร่วมมือกับสนามบินนาริตะ ที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร ระยะที่ 1 รองรับ 15 ล้านคน จากนั้นก็จะขยายเฟส 2 และเฟส 3 รองรับสูงสุด 60 ล้านคน

 

รวมถึงสร้างศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Centre: GTC) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะไปสู่สนามบิน ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบินอู่ตะเภา (Cargo Village or Free Trade Zone: FTZ) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway)

ด้านร.ท. กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่ากทท. เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หลังศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นคำขอของกลุ่ม NCP ซึ่งทำให้คำตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นอันถูกต้องและสามารถดำเนินการต่อไปได้ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3542 หน้า 15 วันที่ 23 -25 มกราคม 2563