สะพานข้ามเมย2 บูมการค้า เชื่อมฐานผลิต3ชาติ

01 ธ.ค. 2562 | 23:30 น.

 

สะพานข้ามเมย2 บูมการค้า เชื่อมฐานผลิต3ชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ในรายงาน “ปลดล็อกขนส่งพรมแดนไทย- เมียนมา...คาดยอดการค้าชายแดนกลับมาเร่งตัวในปี 2563” โดยชี้ว่าการเปิดใช้สะพานข้ามนํ้าเมย 2 เมื่อ 30 ตุลาคม 2562 บรรเทาความคับคั่งหน้าด่านที่สะพานข้ามเมย 1 ที่ช่วยให้การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนคล่องตัวขึ้นแล้ว ประการสำคัญคือการเริ่มใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขงในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างไทย-เมียนมา (Initial Implementation of Cross-Border Transport Facilitation Agreement:IICBTA) พร้อมบทเพิ่มเติม ที่เมียนมาขอเริ่มใช้กับไทยเป็นประเทศแรก เมื่อ 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านด่านถาวรเมียวดี-แม่สอด

 

สะพานข้ามเมย2 บูมการค้า เชื่อมฐานผลิต3ชาติ

ข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งฯนี้ ขยายทั้งพื้นที่และเวลาแก่รถขนส่งที่ได้รับอนุญาตข้ามประเทศระหว่างกัน โดยรถเมียนมาที่ขนสินค้าผ่านด่านแม่สอด สามารถเดินทางไปถึงปลายทาง 2 ที่ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ชลบุรี และชายแดนมุกดาหาร กลับกันรถสินค้าไทยที่ผ่านด่านเมียวดี สามารถขนส่งไปได้ถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ที่กรุงย่างกุ้ง จากเดิมที่ไปได้แค่เมียวดี และมีเวลาอยู่ในแต่ละประเทศได้นาน 30 วัน ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลา ลดต้นทุนค่าขนส่งของการค้าผ่านแดนระหว่างกันลงและคล่องตัวขึ้น

สะพานข้ามเมย2 บูมการค้า เชื่อมฐานผลิต3ชาติ

สินค้าไทยได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวเมียนมา โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 มีสัดส่วน 13% ของการนำเข้าทั้งหมดของเมียนมา รองจากจีน (32%) และสิงคโปร์ (19%) โดยสินค้าไทยหลายกลุ่มขยายตลาดได้อย่างน่าจับตา และจากที่มีพรมแดนติดกันกว่า 70% ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปเมียนมา ใช้ช่องทางการค้าชายแดนเป็นหลัก ผ่าน 3 ด่านหลัก โดยผ่านด่านแม่สอด จังหวัดตากมากที่สุด 68% รองลงมาคือด่านระนอง (16%) และด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย (10%)

 

เมื่อแยกเป็นประเภทสินค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของไทยค่อนข้างโดดเด่น สามารถครองส่วนแบ่งการนำเข้าของเมียนมาในสินค้ากลุ่มนี้ได้ถึง 1 ใน 3 เนื่องจากมีพฤติกรรมบริโภคคล้ายคลึงกัน โดยสินค้าที่มีศักยภาพสูงที่จะทำตลาดได้ต่อเนื่อง ได้แก่ นํ้าผลไม้ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนสินค้าที่มีความต้องการสูงและเป็นโอกาสหากเร่งทำตลาด อาทิ เต้าหู้ นมถั่วเหลือง ครีมเทียม อาหารเด็ก ขนมปัง ชากาแฟสำเร็จรูป อาหารปรุงแต่งจากธัญพืช ส่วนเครื่องดื่มชูกำลัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแปรรูป มียอดส่งออกลดลง เนื่องจากผู้ผลิตไปตั้งโรงงานผลิตในเมียนมา

ขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าสำเร็จรูปใช้ในชีวิตประจำวันของไทยมีคุณภาพ สามารถมัดใจชาวเมียนมาได้ดี ยอดส่งออกสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงได้แก่ มอเตอร์ไซค์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก สบู่ ยาสระผม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์โกนหนวด ระงับกลิ่นกาย ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม ขณะที่กลุ่มยารักษาโรค รถยนต์นั่ง รถโดยสาร พอจะแข่งขันได้ตามความต้อง การนำเข้าของเมียนมาที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ กลุ่มที่น่าจับตาคือ สินค้ากลุ่มสนับสนุนภาคการผลิต (Supporting Industry) ที่ยังมีโอกาสขยายตลาดได้มากขึ้นอีก แต่ต้องแข่งขันกับสินค้าจีนที่ครองตลาดไว้ราวครึ่งหนึ่ง ซึ่งหลายตัวแข่งขันยาก แต่ก็มีบางรายการที่สามารถเข้าแทรกตลาดได้มากขึ้น อาทิ วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ เม็ดพลาสติก(เอทิลีน) กระดาษ ส่วนประกอบยานยนต์ ยางล้อ ขวดแก้ว ถุงพลาสติก ซีเมนต์ เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เป็นต้น เพื่อป้อนนักลงทุนไทยและญี่ปุ่น ที่เข้าไปขยายฐานการผลิตในเมียนมา โดยไทยมีแต้มต่อจากเส้นทางขนส่งที่ใกล้กว่าจีน และมีห่วงโซ่การผลิตที่แนบแน่นกับทุนญี่ปุ่นเป็นทุนเดิม

การย้ายฐานการผลิตทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปเมียนมาผ่านการค้าชายแดนหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 และคาดว่าปี 2562 นี้จะยังหดตัว 3% แต่จากความสะดวกในการเปิดสะพานข้ามเมย 2 ที่ด่านแม่สอด และการผ่อนคลายการขนส่งสินค้าระหว่างกัน ช่วยลดเวลาและต้นทุนการขนส่ง จะขับเคลื่อนการส่งออกผ่านด่านชายแดนในอนาคตคล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าขั้นกลางรายการใหม่ของไทย จะกลายเป็นดาวรุ่งของการค้าชายแดน ที่จะเร่งตัวขึ้นในอนาคตตามการขยายการผลิตในเมียนมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด อานิสงส์ดังกล่าวจะทำให้การส่งออกไทยในปี 2563 ผ่านด่านแม่สอด จังหวัดตาก ขยับสูงขึ้นราว 14% มียอดส่งออกใกล้เคียง 8 หมื่นล้านบาท หนุนให้การส่งออกไทยไปเมียนมารวมทุกด่านขยับขึ้นแตะ 1.05-1.1 แสนล้านบาท ขยายตัว 3-8 % และในปี 2564 การส่งออกผ่านด่านแม่สอดจะขยับขึ้นไปแตะที่ระดับ 1 แสนล้านบาทได้

สะพานข้ามเมย2 บูมการค้า เชื่อมฐานผลิต3ชาติ

นอกจากนี้การปลดล็อกข้อจำกัดการขนส่งระหว่างกัน ทำให้ไทยขยับเป็นประเทศผู้เชื่อมโยงการผลิตของอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง (Greater Mekong Sub region:GMS) ได้เกือบครบ โดยรถขนส่งของไทยสามารถทะลุถึงทะเลอันดามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ถึง 8 แห่ง ตลอดแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor :EWEC) คือ 1.เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาใกล้กรุงย่างกุ้ง 2.เขตเศรษฐกิจพิเศษพะอัน 3.เขตเศรษฐกิจพิเศษเมาะละแหม่ง 4.เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี 5.เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด 6.เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร และ 7.เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ในสปป.ลาว

 

 

หากรถขนส่งของไทยสามารถผ่านไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษดานัง เขตเศรษฐกิจพิเศษกวางจิ (กวางตรี) เขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว ในเวียดนามได้ จะยิ่งทำให้ห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคครบสมบูรณ์ยิ่งกว่าเดิม และดึงดูดการลงทุนต่างชาติได้เพิ่มขึ้น จากการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตจากฝั่งอันดามันไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิกได้ภายในเวลาเพียง 3 วัน 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1 - 4 ธันวาคม 2562

สะพานข้ามเมย2 บูมการค้า เชื่อมฐานผลิต3ชาติ