ปั้นสยามพิวรรธน์ ต้นแบบองค์กรยั่งยืน

22 พ.ย. 2562 | 12:00 น.

“ชฎาทิพ” ชูวิชั่นขับเคลื่อน “สยามพิวรรธน์” ต้นแบบองค์กรของการสร้างคุณค่าร่วมกันสู่ความยั่งยืน ผ่านคน ชุมชนและสังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดตัวโครงการใหม่ Citizen of Love by Siam Piwat

 

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ฯ เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของสยามพิวรรธน์ ภายใต้วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ต้นแบบ “การสร้างคุณค่า สมประโยชน์ร่วมกันสู่ความยั่งยืน” โดยนำเสนอในทุกธุรกิจของกลุ่มสยามพิวรรธน์ใน 3 มิติ ได้แก่ 1. มิติผู้คน คือการให้โอกาส ความเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่ม สนับสนุนให้ประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น 2. มิติชุมชนและสังคม เป็นการสร้างความเจริญและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนโดยรอบโครงการ และ 3.มิติสิ่งแวดล้อม การสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการดูแลโลกใบนี้

ปั้นสยามพิวรรธน์ ต้นแบบองค์กรยั่งยืน

 

ทั้งนี้เพื่อให้สยามพิวรรธน์เป็นองค์กรที่สร้างคุณค่าต่อผู้คน ชุมชนสังคมและประเทศชาติ ไม่ได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นครั้งคราว แต่ปลูกฝังการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นในวงกว้าง และเข้าไปอยู่ในการดำเนินธุรกิจทุกๆวันของเราเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี สยามพิวรรธน์ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อที่จะสร้างรูปแบบธุรกิจต่างๆ ของการค้าปลีก รวมทั้งทำงานร่วมกับชุมชน และภาคประชาสังคม เพื่อสืบสานภูมิปัญญาไทย พัฒนาชุมชน สร้างศักยภาพในการทำการค้าขายและยกระดับชีวิต

ปั้นสยามพิวรรธน์ ต้นแบบองค์กรยั่งยืน

ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนไทยดีไซเนอร์และธุรกิจออกแบบแฟชั่นของไทย ผ่านการประกวดยังก์ ดีไซเนอร์ การสร้างระบบนิเวศทางการค้า ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า ส่งเสริมความรู้และการทำการตลาด modern trade และต่อยอดไปสู่การทำ E-commerce ขึ้นที่สุขสยาม ชั้น G ไอคอนสยาม การจัดตั้ง O.D.S. Objects of Desire Store ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์รวมสินค้าไลฟ์สไตล์และของตกแต่งบ้านสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) คัดเลือกสินค้าจากโครงการ DEMark, Talent Thai ฯลฯ กว่า 130 แบรนด์ มาไว้ในพื้นที่ 620 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าไปยังต่างประเทศ

ปั้นสยามพิวรรธน์ ต้นแบบองค์กรยั่งยืน

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ไทยดีไซเนอร์ และผู้ประอบการเอสเอ็มอีราว 500 ราย นำสินค้ามาขายในไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) บนพื้นที่กว่า 2,500 ตารางเมตร บริเวณชั้น 4 และ ชั้น 5 ไอคอนสยาม พร้อมส่งเสริมและต่อยอดในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ มีการสอนการทำธุรกิจโดยใช้ระบบ data management การทำ E platform ช่วยหาสปอนเซอร์เพื่อมาสนับสนุนธุรกิจ เป็นต้น

 

นางชฎาทิพ กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจะช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เห็นได้จากโครงการไอคอนสยาม ซึ่งช่วยส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ ด้วยการจัดพื้นที่พิเศษที่เรียกว่า ธนบุรีดีไลท์ เพื่อให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบนำของดีของเด่นของชุมชนย่านฝั่งธนบุรีมาจำหน่าย นอกจากนี้ยังร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและพันธมิตรจัดทำโครงการ “รักษ์ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน” ลงทุนพัฒนาโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้กับพื้นที่โดยรอบ เช่น รถไฟฟ้าสายสีทองเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งจะเปิดให้บริการในกลางปี 2563 เป็นต้น

ปั้นสยามพิวรรธน์ ต้นแบบองค์กรยั่งยืน

โดยสยามพิวรรธน์ ยังมีนโยบายดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความสมดุล โดยจัดทำโครงการต่างๆ อาทิ การร่วมกับ Green Organization จัดตั้ง Green Fund จัดสรรเงินงบประมาณ การจัดโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำไปเป็นเงินกองทุนสนับสนุนในการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดการดูแล รักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ฯลฯ และล่าสุดบริษัทยังจัดทำโครงการ Citizen of Love by Siam Piwat ขึ้น เพื่อร่วมส่งเสริมและแบ่งปันให้ทุกคนด้วย

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3524 ระหว่างวันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน 2562