ปมปัญหา ‘เอสซีบี ปาร์ค’ ‘ประมาท’หรือ‘อาถรรพ์ ปีชง’

19 มี.ค. 2559 | 02:00 น.
ครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุสลด แบบไม่คาดฝันครั้งแล้วครั้งเล่าขึ้นภายในอาคารเอสซีบี ปาร์ค รัชโยธินซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์! โดยล่าสุดเกิดเหตุก๊าซรั่วจนมีคนงานเสียชีวิต 8 นายและบาดเจ็บอีก 7 คน ที่จุดเกิดเหตุชั้นใต้ดิน B2 อาคารเอสซีบี ปาร์ค ที่ขณะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมุ่งหาสาเหตุเกิดจากความประมาทหรือเหตุสุดวิสัย

เบื้องต้น ธนาคารไทยพาณิชย์ชี้แจงว่า ต้นเหตุเกิดจากเครื่องดับเพลิงขัดข้อง จากการสอบสวนของตำรวจคาดว่าอาจจะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทของผู้รับเหมา! แต่ขั้นตอนทำงานผิดพลาดหรือประมาทนั้นทางตำรวจกำลังเร่งสืบสวนหาสาเหตุ!

ต่อมาธนาคารไทยพาณิชย์ชี้แจงเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) ว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินงานปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยเพิ่มเติม เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้ระบบก๊าซไพโรเจนเป็นสารตั้งต้นในการป้องกันอัคคีภัยมาเป็นระบบ Clean Agent ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ก๊าซไนโตรเจนในการดับเพลิง ซึ่งยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันอัคคีภัยด้วยมาตรฐานระดับสากล โดยได้มีการว่าจ้างบริษัท เมก้า แพลนเน็ต จำกัด ให้เป็นผู้เข้ามาดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559 ตามแผนที่ได้วางไว้!

ขณะเดียวกันอาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สถาปนิกดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงกรณีศึกษา เมื่อเครื่องดับเพลิงทำงานอัตโนมัติ ที่ SCB Park และมีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก... หลายท่านคงได้ทราบข่าวสารโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ธนาคารไทยพานิช SCB Park ทำให้มีผู้เสียชีวิต update ถึงปัจจุบัน = 10 คน อันอาจสรุปความได้ดังต่อไปนี้

1. มีการก่อสร้างต่อเติมปรับปรุง "ห้องมั่นคง" ที่ชั้น B2 ของอาคาร และในการก่อสร้างนั้นมีประกายไฟเกิดขึ้น หรือมีฝุ่นละอองเกิดเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ระบบดับเพลิงอัตโนมัติทำงานพ่นควันออกมา

2. ระบบดับเพลิงอัตโนมัตินั้นเป็นก๊าซ (สาร) ไพโรเจน (Pyrogen) ทำให้มีคุณภาพในการกำจัดออกซิเจน ทำให้บริเวณนั้น (ซึ่งมีคนงานจำนวนมาก) ขาด Oxygen ที่จะใช้หายใจ

3.เพราะการก่อสร้างอยู่ที่ชั้นใต้ดิน B2 ทำให้การระบายอากาศทำได้ยาก ไม่มีหน้าต่างเปิดสู่ภายนอก กลุ่มควันจึงลอยอยู่ในห้อง ไม่ออกไปไหน และออกซิเจนจากอากาศภายนอก ไม่สามารถเข้ามาในบริเวณนั้นได้ คนที่อยู่ภายในจึงยิ่งขาดอากาศหายใจ

4. การเข้าไปช่วยเหลือยากมาก เพราะสถานที่ใช้ระบบสแกนนิ้วมือในการเข้าไป (ซึ่งเป็นเรื่องปกติ) ทำให้ผู้เข้าไปช่วยเหลือเข้าไปช้า หรือเข้าไปไม่ได้ จนต้องมีการทุบรื้อประตูเข้าไปช่วย

5. เมื่ออากาศหายใจไม่มี คนเข้าไปช่วยไม่ได้ อากาศไม่ถ่ายเท มีสาร Pyrogen ทำลายออกซิเจนอยู่... คนไม่มีอากาศหายใจ จึงเสียชีวิตโศกนาฏกรรมกรณีเช่นนี้ น่าจะเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นในเมืองไทย จึงยังไม่มีการระมัดระวังกันเท่าที่ควร และขอให้เป็นครั้งสุดท้ายเทอญ!

ประเด็นน่าคิด! ตามหลักฮวงจุ้ย เมื่อ ซินแสไฮเทค "อาจารย์มาศ เคหาสน์ธรรม" ประธานสถาบันค้นคว้าวิชาการฮวงจุ้ยแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า ฮวงจุ้ยธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (เอสซีบี ปาร์ค พลาซ่า) ที่ไฟไหม้ ลองวัดองศาดู พบว่าปีที่ผ่านมา หน้าหันหลังพิงอยู่ในแกนองศาของทิศแตก (ส่วยผั่ว) ซึ่งเป็นทิศร้ายที่สุดในรอบ 12 ปี ในทางฮวงจุ้ย และเท่าที่เคยได้ยินมา ตึกนี้มีการวางฮวงจุ้ยตั้งแต่แรก โดยซินแสจากฮ่องกง ซึ่งในความเห็นของตน ถือว่าทำได้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาในภาพรวม คือ มีสวนขนาดใหญ่เป็นเหม่งตึ้ง ถึง 3 ชั้น (ฟ้า-คน-ดิน) และมีอาคารบริวารโอบอุ้มล้อมรอบ แต่ข้อที่ยังไม่ถูกต้อง คือ รูปทรงของตัวอาคารหลัก ซึ่งเป็นอาคารประธาน กลับมีลักษณะเอียงเบี้ยวไม่สมดุล" ห้ามไปเคาะ ตอก เจาะ ทุบรื้อ ตัดต้นไม้ ขุดดิน ก่อสร้าง ต่อเติม คือห้ามตกแต่งและซ่อมแซมภายใน"

ภายใต้ร่มเงาของธนาคารที่มีประวัติศาสตร์ร่วม 101 ปี จาก "สยามกัมมาจล" ซึ่งเป็นต้นแบบธนาคารแห่งแรกของประเทศไทย มีประเด็นให้คิดและจับตา หลังเปลี่ยนกระบวนทัศน์ธนาคารศักดินาสู่ความเป็นเลิศของบริการระดับเวิล์ดคลาสยุค "กรรณิกา ชลิตอาภรณ์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งทำให้ทุกธนาคารปรับตัวเป็น "นักขาย" โดยใช้สาขาเป็นหน้าร้านให้บริการและขายสินค้า ก่อนจะเปลี่ยนผ่านสู่ผู้บริหารแฝด "อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร -ญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่แทนกรรณิกา" เมื่อ 3 เมษายน 2558
หากย้อนมองต้นปีก่อน หลัง 2 ผู้บริหาร "ญนน์-อาทิตย์" รั้งบังเหียน ได้เกิดเหตุการณ์เป็นประเด็นโดยไม่ทันตั้งตัว เมื่อจู่ๆ เงินจากบัญชีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังจำนวนกว่า 1.6 พันล้านบาทเกิดการทุจริต!

ระหว่างนั้น "เอสซีบี ปาร์ค" ก็เกิดเพลิงไหม้บริเวณชั้น 10 โซน เอ (เมื่อคืนวันที่ 7 กุมภาพันธ์2558) เป็นเหตุให้อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเสียชีวิต ตามมาด้วยกรณีอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่งประกาศจะเลิกทำธุรกรรมทางการเงินกับไทยพาณิชย์จากกรณีธนาคารประกาศรับสมัครพนักงานโดยเจาะจงเพียง 14 สถาบันเท่านั้น!

และอีกกระแสที่ให้น้ำหนักกับ "ปีชง"

ทว่า อุบัติเหตุที่คร่าชีวิต ควรจะเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งบุคคลและองค์กร ซึ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังให้รอบคอบเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุการณ์ซ้ำซาก แต่หลังจากความสูญเสียครั้งนี้ควรจะมีผู้รับผิดชอบ!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,140 วันที่ 17 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2559