สคบ.เปิดประชาพิจารณ์ปลดล็อกเช่าซื้อ

09 ส.ค. 2560 | 08:26 น.
สคบ.เปิดประชาพิจารณ์ปลดล็อกสัญญาเช่าซื้อรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ 21 สิงหาคมนี้ เผยสาระสำคัญหั่นเบี้ยปรับลดค่าธรรม เนียมจดหมายทวงหนี้ เพิ่มสิทธิผู้คํ้าประกันซื้อคืนก่อนขายทอดตลาดคาดประกาศใช้ภายในปีนี้

นายอุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสัญญา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ. ...จะจัดประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 21 สิงหาคมนี้

ผู้ที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจะมาจากประชาชนผู้บริโภค สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นต้น

ทั้งนี้คณะกรรมการจะนำผลประชาพิจารณ์สู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาอีกครั้งว่าจะมีการพิจารณาปรับแก้ไขหรือไม่อย่างไร จากนั้นจึงเสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(บอร์ดใหญ่)พิจารณา ถ้าไม่มีข้อโต้แย้งจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ต่อไป

apptp14-3132-b “สคบ.เองมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคขณะเดียวกันต้องให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้ด้วย ดังนั้นแนวทางที่จะนำมาใช้บังคับในทางปฏิบัติต้องให้เวลาผู้ประกอบการทำความเข้าใจ หรือปรับแก้แบบฟอร์มสัญญามาตรฐานใหม่ด้วย เพราะแต่ละค่ายมีสัญญาจำนวนมาก”

ประเด็นหลักที่หารือเบื้องต้นประมาณ 2-3 เรื่อง เช่น การคำนวณอัตราค่าผ่อนชำระแต่ละงวดจะมีอัตราดอกเบี้ยรวมอยู่ด้วยทุกงวด ซึ่งผู้เช่าซื้อต้องการทราบอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงโดยขอให้แสดงตามอัตรา(Flat Rate) หรือการคิดเบี้ยปรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระค่างวด ซึ่งปัจจุบันไฟแนนซ์ที่ดำเนินการโดยธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR)ของธนาคารกรุงไทย เฉลี่ยค่าเบี้ยปรับจะคิดไม่เกิน 15% ต่อปีซึ่งผู้เช่าซื้อร้องเรียนว่าสูงเกินไป

นอกจากนี้ยังมีค่าติดตามทวงถามกรณีผิดนัดชำระ เช่นการออกจดหมายแจ้งบางฉบับคิดอัตรา 500 บาทบางฉบับคิด 1,000 บาท และยังออกจดหมายทวงหนี้ถี่มาก เพราะทุกฉบับที่ออกมาไฟแนนซ์จะคิดจากลูกหนี้ หรือผิดนัดแล้วทางไฟแนนซ์บอกเลิกสัญญา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประเด็นนี่ยังเป็นข้อโต้แย้ง โดยที่ผ่านมาจากการหารือผู้ประกอบการไฟแนนซ์ ยังมีบางส่วนที่รับไม่ได้ เช่น ค่าติดตามนำรถคืนบางค่ายให้เหตุผลการติดตามรถยนต์ไกลไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีค่าใช้จ่ายสูง

ขณะที่ปัจจุบันสคบ.ทำงานร่วมกับคณะกรรมการทวงถามหนี้ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยเป็นประธานอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดค่าติดตามทวงถามหนี้ ภายใต้พระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 กรณีหนี้ครบกำหนดชำระแต่ลูกหนี้ไม่ชำระจะมีวิธีทวงถามอย่างไร เช่น การออกจดหมายแจ้ง หรือการโทรศัพท์ ฯลฯ โดยบอร์ดชุดนี้กำลังพิจารณาเพื่อให้อัตราค่าทวงถามล้อไปตามที่บอร์ดชุดนี้กำหนดด้วย

ส่วนประเด็น “การยึดรถ” ซึ่งไม่อยู่ในนิยามของพ.ร.บ. ทวงถามหนี้ เพราะไฟแนนซ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ จึงเป็นการติดตามทรัพย์ของไฟแนนซ์เอง หากกฎหมายห้ามคิดค่าใช้จ่ายทางไฟแนนซ์มีข้อโต้แย้งว่ามีค่าใช้จ่ายว่าจ้างบริษัทภายนอกติด ตามยึดรถ จึงเป็นประเด็นกำลังคุยกันด้วย

“ค่าทวงถามที่ใช้อยู่ แต่ละที่คำนวณเรียกเก็บกันเอง สคบ.ให้คำแนะนำให้เรียกเก็บตามความเป็นจริง ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นและมีเหตุผลตามสมควร”

นายบุญหนา จงถิ่นสุวรรณ ผู้จัดการสมาคมเช่าซื้อไทย กล่าวว่าในหลักการความพยายามที่จะแก้ไขในประเด็นที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ซึ่งประเด็นของการหารือส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยรวมเรื่องกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่างวดและบอกเลิกสัญญาระหว่างกัน โดยจะเปิดให้ผู้คํ้าประกันใช้สิทธิซื้อรถที่บอกเลิกสัญญาได้ก่อนจะนำไปขายทอดตลาด หรือกรณีนำเงินค่างวดไปหักค่าใช้จ่ายต่างๆก่อนค่างวดนั้นต้องให้มีหนังสือแจ้งลูกค้าผู้เช่าซื้อ หรือกรณีการประมูลรถทุกครั้งต้องแจ้งผู้เช่าซื้อด้วยเพื่อลดข้อโต้แย้ง

นอกจากนี้ยังให้ทำรายละเอียดตารางผ่อนค่างวดให้ลูกค้าเห็นดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา และถ้าหากผู้เช่าซื้อปิดบัญชีก่อนกำหนด ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อจะต้องคืนเงินค่างวดส่วนที่เหลือให้ครึ่งหนึ่ง เช่น สัญญาผ่อนค่างวด 48 งวดผู้เช่าซื้อทยอยผ่อนไปแล้ว 30 งวดที่เหลืออีก 16 งวดผู้เช่าซื้อจะต้องได้คืนดอกเบี้ย 50%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560