เจาะแผนรัฐบาล ป้องผลไม้แสนล้าน เอาอยู่-ไม่อยู่?

01 พ.ค. 2564 | 01:47 น.

ผลผลิตผลไม้ตามฤดูกาลของทุกภาคกำลังออกสู่ตลาดในเวลาใกล้เคียงกัน เป็นเหตุให้ถูกกดราคาทุกปี ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยระบายอย่างไร และจะเอาอยู่หรือไม่นั้น ฟังจากบทวิเคราะห์

 ในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน ของทุกปี จะเป็นช่วงที่ผลผลิตผลไม้ไทยออกสู่ตลาดใกล้เคียงกันในทุกภาค โดยจะเริ่มจากภาคตะวันออกจะมีผลผลิตในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ภาคเหนือมี 2 ช่วงคือ เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม และกรกฎาคมถึงสิงหาคม และภาคใต้ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ส่วนภาคกลางจะออกในช่วงเมษายนถึงมิถุนายน

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าปีนี้ผลไม้ไทยจะมีผลผลิต 5.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 23% ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน ลองกอง ลำไย สับปะรด เงาะ ลิ้นจี่ ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกตัวในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม โดยเฉพาะทุเรียนกับมะม่วง

จากข้อมูลจากคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร ณ วันที่ 8 เมษายน 2564 ได้พยากรณ์การผลิตไม้ผลที่สำคัญปี 2564(ณ มี.ค. 2564) ได้แก่ ทุเรียนคาดมีผลผลิต 1.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.28%, ลำไย 1.41ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19.67%, สับปะรด 1.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 17.49%, เงาะ 2.73 แสนตัน เพิ่มขึ้น 1.34%, มังคุด 2.64 แสนตัน ลดลง 21.44%, ลองกอง 8.45 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 13.72% ลิ้นจี่ 3.71 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 9.17%

 แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าผลผลิตผลไม้ไทย สัดส่วน 60% จะส่งออกในรูปผลไม้สด แปรรูป และอบแห้ง และอีก 40% บริโภคภายในประเทศ โดยปี 2563 ไทยมีมูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 128,337 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.45% จากปีก่อน ผลไม้ส่งออกมากสุด 5 อันดับแรกได้แก่ ทุเรียนสด (65,631 ล้านบาท), ลำไยสด (16,845 ล้านบาท), มังคุด (15,021 ล้านบาท), มะม่วงสด (1,953 ล้านบาท) และเงาะสด (172 ล้านบาท) ขณะช่วง 3 เดือนแรกปี 2564 ไทยส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป มูลค่า 20,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากเศรษฐกิจการค้าของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย เฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่สุดของผลไม้ไทย (สัดส่วน 70%) รวมถึงฮ่องกง สหรัฐฯ ยุโรป CLMV และอื่นๆ

เจาะแผนรัฐบาล ป้องผลไม้แสนล้าน เอาอยู่-ไม่อยู่?

ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับผลไม้ที่จะออกมามากในช่วงนี้ กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งบริหารจัดการในการระบายผลไม้ที่จะออกมามากในช่วงนี้เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวและมีการฉวยโอกาสกดราคาผลไม้ของเกษตรจากพ่อค้าคนกลาง รวมถึงคุมเข้มไม่ให้มีการเร่งตัดทุเรียนอ่อนมาจำหน่ายของเกษตรและผู้ค้านำไปจำหน่าย (ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในอัตราสูง) ที่จะทำให้ชื่อเสียงของทุเรียนไทยเสียหาย ขณะที่เวลานี้มีความกังวลใจของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเรื่องสินค้าอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโควิด แม้รัฐบาลจะออกมายืนยันแล้วว่ามีการควบคุมอย่างเข้มงวดก็ตาม

 รัฐบาลจึงได้มีมาตรการในการบริหารจัดการผลไม้ที่ออกมาในช่วงนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาล้นตลาดและราคาตกเหมือนในอดีต โดยในด้านการผลิตนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งดำเนินการตรวจและรับรองการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน GAP โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.2 แสนแปลง รวมถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพื้นที่

 ส่วนแผนการตลาดในประเทศนั้น กระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้กรมการค้าภายในบริหารจัดการตั้งแต่ต้นนํ้ายันปลายนํ้า โดยต้นนํ้าจะกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิตช่วงกระจุกตัวไปให้ผู้ค้าส่ง-ค้าปลีก และ โรงงานแปรรูปปลายทางเป้าหมาย 66,000 ตัน โดยกระทรวงจะสนับสนุนค่าบริหารจัดการกิโลกรัม (กก.) ละ3บาท นอกจากนี้จะเร่งกระจายผ่านรถเร่ขายผลไม้ไปตามแหล่งชุมชนต่างๆ มีเป้าหมาย 4 หมื่นตัน และเปิดพื้นที่จำหน่ายให้เกษตรกรผ่านตลาดกลาง ตลาดสด สนามบิน ห้างท้องถิ่น รวมถึงสถานีบริการนํ้ามัน

 ส่วนกลางนํ้าจะเป็นการเสริมสภาพคล่องโดยการชดเชยดอกเบี้ย 3% ในระยะเวลา 6 เดือน เริ่ม มีนาคม-พฤษภาคมให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการเพื่อใช้ในการรวบรวมและกระจายรับซื้อผลไม้ และปลายนํ้า เร่งผลักดันการส่งออก โดยรัฐจะสนับสนุนการค่าบริหารจัดการกก.ละ 5 บาท วงเงิน 150 ล้านบาท ตั้งเป้า 6 หมื่นตัน ซึ่งรัฐจะจ่ายเงินให้ 3 หมื่นตัน

อย่างไรก็ดีในส่วนของ “ทุเรียน” ราชาแห่งผลไม้ ที่คาดจะมีผลผลิตช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 6.2 แสนตันในภาคตะวันออก ยังไม่รวมภาคใต้ที่จะออกมาในช่วงกรกฎาคมถึงตุลาคมอีก 5.8 แสนตัน ซึ่งปีนี้ทุเรียนยังมีราคาดีต่อเนื่อง แต่มีปัญหาคือขาดแรงงานในการเก็บเกี่ยว คัดคุณภาพและบรรจุ รวมถึงตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออก ต้นทุนค่าการจัดการและขนส่งสูง และความเข้มงวดในเรื่องกฎเกณฑ์การนำเข้าของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19

เจาะแผนรัฐบาล ป้องผลไม้แสนล้าน เอาอยู่-ไม่อยู่?

 ดังนั้นในการส่งออกทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกทำรายได้มากสุดของไทยประเด็นสำคัญสุดในเวลานี้คือ อย่าตัดทุเรียนอ่อนส่งขายเด็ดขาด เพราะนอกจากทำให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นแล้ว อาจทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะมาเลเซียที่เเทบจะไม่มีปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อน หากไทยไม่แก้ปัญหาจริงจังอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ทุเรียนไทยทั้งระบบ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องร่วมกันวางระบบควบคุมทุเรียนคุณภาพ เช่น ทุเรียนทุกลูกสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามาจากแหล่งใด การรับประกันทุเรียน หากพบว่าทุเรียนอ่อน กินไม่ได้ นำมาเคลมได้ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อรักษาตลาดในประเทศ รวมถึงตลาดส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งของไทยในภาพรวมที่มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปีให้มีความยั่งยืน ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ค้าให้มากขึ้นในทุก ๆ ปีไปอีกยาวนาน

จากนสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8  ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564