“เฉลิมชัย” ปล่อยคาราวานเครื่องจักรสู้ภัยแล้ง

04 ก.พ. 2564 | 09:50 น.

กระทรวงเกษตรฯ นำทัพ ปล่อยคาราวาน สู้ภัยแล้ง พร้อมทุ่มงบจ้างงานกว่า 5 พันล้าน ช่วยเหลือเกษตรกร-ประชาชน 9.4  หมื่นคน ทั่วประเทศ

 

เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/64   ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีปล่อยคาราวานเครื่องจักร-เครื่องมือ กรมชลประทาน พร้อมเดินหน้าโครงการจ้างแรงงาน งบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน 94,000 คน

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นประธานเปิดคาราวานเครื่องจักร-เครื่องมือ กรมชลประทาน

 

ด้านนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปี 2562  ที่ผ่านมา  ปริมาณฝนสะสมรวมทั้งประเทศ 1,333 มิลลิเมตร(มม.) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 225.5 มม. หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ต่อเนื่องมาจนถึง ปี 2563 มีปริมาณฝนสะสมรวมทั้งประเทศ 1,527.3 มม.    ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 60.4 มม. คิดเป็นร้อยละ 4 ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศหลายแห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ปริมาณน้ำใช้การรวมกัน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 (ต้นฤดูแล้ง) มีอยู่ประมาณ 23,833 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)

 

ปัจจุบัน (3 กุมภาพันธ์ 2564)  คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 20,433 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 39 ของน้ำใช้การทั้งหมด เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)มีปริมาณน้ำใช้การรวมกัน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 (ต้นฤดูแล้ง)ประมาณ 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร  คิดเป็นร้อยละ 32 ของน้ำใช้การทั้งหมด ปัจจุบัน (3 ก.พ. 64) เหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,263 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23  ของน้ำใช้การทั้งหมด

 

กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ไว้จำนวน 17,122 ล้าน ลบ.ม. สำรองไว้ต้นฤดูฝน 8,735 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,041 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งกรมชลประทานจะควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

 

สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 4.26 ล้านไร่(แผน 1.90 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไม่มีแผนการเพาะปลูก แต่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 2.63 ล้านไร่ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ ปัจจุบันในหลายพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง  กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่       3 พฤศจิกายน 2563 เน้นจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอ ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้แก่ประชาชนรวมทั้งเกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งเร่งกำจัดวัชพืชในแม่น้ำและคลองสาขาที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ

 

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้ทั้งสิ้น 5,935 หน่วย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบไปด้วยเครื่องสูบน้ำ 2,140 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 503 คัน เครื่องจักรสนับสนุนอื่น 3,292 หน่วย เพื่อให้การช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยแล้งปี 2563/64 ได้อย่างทันท่วงที และลดความเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ

 

 กรมชลประทานได้เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ด้านภัยแล้งในหลายพื้นที่ เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อส่งน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค พร้อมขอความร่วมมืองดการสูบน้ำเพื่อทำนารอบที่ 2 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อีกทั้งได้นำเครื่องจักร เครื่องมือ ลงพื้นที่กำจัดวัชพืชและผักตบชวาในทางน้ำชลประทานและทางน้ำสายหลักต่าง ๆ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน รวมทั้งแม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำให้ประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

 

 

ด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ (ความเค็ม) ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีนและบางปะกง พบว่าค่าความเค็มในหลายพื้นที่ของลำน้ำสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทาน จึงต้องบริหารจัดการน้ำโดยการระบายน้ำเพิ่มมากขึ้น เพื่อผลักดันและควบคุมความเค็มไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการผลิตน้ำประปาและการรักษาระบบนิเวศ ในขณะที่ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่สามารถนำไปไล่ความเค็มได้ตลอดเวลา จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเฉพาะชาวเมืองหลวงและปริมณฑลที่ใช้น้ำจากการประปานครหลวง เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า

 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งได้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 สามารถจ้างแรงงานได้ 94,000 คน งบประมาณทั้งสิ้น 5,662.34 ล้านบาท ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้ว 8,237 คน หรือร้อยละ 9 ของแผนการจ้างงาน

 

โดยหลักเกณฑ์การจ้างแรงงาน จะเน้นพิจารณาจ้างเกษตรกรหรือประชาชนในพื้นที่ชลประทานก่อน อาทิ เกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานที่ขาดรายได้จากการทำเกษตรกรรม และหากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ไม่เพียงพอจะพิจารณาจ้างแรงงานจากพื้นที่ใกล้เคียงตามความเหมาะสม หากเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลหรือสมัครเข้าร่วมงานได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านทุกแห่ง