เอกชน เตรียมเสนอ 3 ประเด็น จี้รัฐจ่ายชดเชย โควิดลามเชิงรุก

14 ม.ค. 2564 | 09:16 น.

เอกชนเตรียมเสนอนายกฯ 3 ประเด็นระบุเอกชนลงทุนป้องกันโควิดลามเชิงรุก จี้ภาครัฐจ่ายชดเชย พร้อมออกมาตรการจูงใจเชื่อสถานการณ์จะดีขึ้น

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวในการแถลงข่าว“ความร่วมมือสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม สู่ภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่าจากการหารือกันกับทุกฝ่ายที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่านำเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ต่อนายกรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็นคือ  1.จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันวางแผนระยะยาว เพื่อให้เกิดแผนการทำงานร่วมกัน และสามารถระดมกำลังและทรัพยากรในการจัดการปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์ รวมถึงการสื่อสารและแถลงข่าวต้องบริหารจัดการข้อมูลให้เป็น single messageเพราะที่ผ่านมาประชาชน เอกชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาตลอดแต่บางครั้งคำสั่งก็มีการเปลี่ยนแปลงเพราะไม่ได้ทำงานร่วมกับเอกชน ดังนั้นหากมีการทำงานร่วมกับเอกชนมากขึ้นก็จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวไม่เกิดความสับสน

 

 

                  2.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร ให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพร่วมมือให้มีการตรวจพนักงานผู้มีเชื้อทั้งรูปแบบการตรวจแบบ rapid test และ PCR , กักพื้นที่ในเขตควบคุม local quarantine จนกระทั่งมีภูมิต้านทาน ควรดูแลผู้ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยง เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องหาสถานที่ในการแยกกักตัว เพื่อสังเกตอาการ ลดการแพร่เชื้อ และการติดเชื้อซ้ำ โดยภาครัฐ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินการช่วยดูแลแรงงานของตนเอง และสนับสนุนค่าตรวจ หรือใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษีให้ผู้ประกอบการที่เหมาะสม เนื่องจากยังมีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายแต่อยู่นอกระบบประกันสังคมในพื้นที่จ.สมุทรสาครอีกว่า 280,000 คนที่ต้องรับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งภาคเอกชนก็พร้อมจะให้ความร่วมมือแต่ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนในทุกด้านเช่นกัน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

                  3. มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อของแรงงานต่างด้าว ควรต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน การแพร่เชื้ออย่างถาวร ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าว พร้อมทั้ง ควรขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้แอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพื่อช่วยให้สามารถติดตามผู้มีความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว


 

ขณะที่ นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองเลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม  กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะแรกยอมรับว่ามีความล่าช้าเพราะไม่ได้เตรียมการรับมือมาก่อน บวกกับการสื่อสารกับประชาชนที่อาจมีข้อผิดพลาด อย่างไรก็ตามในการระบาดระลอกใหม่นี้สำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาตรการ คือ มาตรการปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2563 ส่งผลให้มีการปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เหลือ 3% และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค. 2564) เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตนได้ 15,660 ล้านบาท และหากรวมการปรับลดเงินสมทบที่สำนักงานประกันสังคมปรับลดให้นายจ้างและลูกจ้างตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ทำให้นายจ้างและลูกจ้างประหยัดเงินได้ถึง61,000 ล้านบาท ทำให้เหลือเงินไปใช้จ่ายเพื่อค่าครองชีพมากขึ้นรวมทั้ง เตรียมความพร้อมระบบรองรับการรับชำระเงินสมทบในการจ่ายเงินสมทบอัตราใหม่ ผ่านระบบอีเพเมนท์เพื่อความสะดวกมากยิ่งขึ้น

 

ส่วนการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของ ผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการนั้นสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ในการตรวจคัดกรองฯ และค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่สถานพยาบาล ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ตามระเบียบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าด้วยอัตราค่าตรวจวิเคราะห์และให้บริการ หรือตามที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด

 นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย

 นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า สมาชิกของสมาคม 50 ราย และ 20 รายอยู่ในจ.สมุทรสาคร ซึ่งพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจหาซื้อโควิดเชิงรุก ซึ่งอยากผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาคร ไม่ต้องวิตกเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นอย่ากลัวเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจหาโควิด-19 เชิงรุกให้กับแรงงานต่างด้าวเพราะสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานพร้อมให้ความช่วยเหลือในมาตรการต่าง ๆ และขอให้มั่นใจว่า การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในจ.สมุทรสาครจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

 

 

“ภาคเอกชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ทั้งการเร่งตรวจหาเชื้อ การทำศูนย์เพื่อให้ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงรอดูอาการ เป็นการลดการระบาดของเชื้อ โดยขณะนี้มีกว่า 1 พันเตียงซึ่งภาครัฐควรชดเชย หรือช่วยเหลือเอกชนในส่วนนี้ซึ่งจะช่วยให้เอกชนมีเงินกลับนำมาใช้หมุนเวียนในการประกอบธุรกิจต่อไป” นายผณิศวร กล่าว

เอกชน เตรียมเสนอ 3 ประเด็น  จี้รัฐจ่ายชดเชย โควิดลามเชิงรุก

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมส่งออกทูน่าไทยสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่าปีละ 120,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการได้ป้องกันการระบาดของโรคในเชิงรุก ด้วยการตรวจหาเชื้อ มีการสร้างศูนย์เพื่อแยกผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแห่งละ 40-50 ล้านบาท เพราะต้องลงทุนทั้งการจ้างพนักงาน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐาน ซึ่งตรงนี้มองว่าภาครัฐต้องเร่งเข้ามาสนับสนุนเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่เอกชนมากเกินไป