เจาะ"ราคาสินค้าเกษตร"เดือนม.ค.ตัวไหนรุ่ง-ตัวไหนร่วง

04 ม.ค. 2564 | 23:00 น.

อานิสงค์"โควิด"! ดันยอด"ราคาสินค้าเกษตร"ประเภทข้าวเปลือกเจ้า-ข้าวเปลือกหอมมะลิ-ข้าวเปลือกเหนียวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้น ด้านน้ำตาลทรายดิบ ยางพาราดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม คาดราคาลดลง

แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งในส่วนของประเทศไทยและทั่วโลกจะยังไม่คลี่คลาย  ส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีการชะตัว  หลายธุรกิจ หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดียังมีสินค้าบางอย่าง บางประเภทที่ยังมีแนวโน้มการเติบโต และมีโอกาสทางการตลาดท่ามกลางวิกฤตินี้ 

 

โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรบางอย่างของประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากทางศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. โดยนายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ได้คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ 


-ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,542 -8,865 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.20 - 6.07 เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลก อาจทำให้มีความต้องการข้าวขาวจากไทยเพิ่มขึ้น


-ข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ราคา 11,683 -11,726 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 5.38 - 5.76 เนื่องจากภาครัฐมีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร


โดยวงเงินสินเชื่อต่อตันของข้าวเปลือกหอมมะลิใกล้เคียงกับราคาตลาด และเกษตรกรได้ผลประโยชน์หากเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท


-ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 10,325 - 10,651 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.03 - 3.19 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง 


-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.91 - 7.99 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 - 1.50 เนื่องจากสิ้นสุดช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดฤดูฝนในเดือนมกราคม ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของการส่งออกเนื้อสัตว์


 

ส่วนทางด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่


-น้ำตาลทรายดิบนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 13.79 - 14.22 เซนต์/ปอนด์ (9.19 - 948 บาท/กก.) ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.50 - 4.50 เนื่องจากคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลของประเทศบราซิลจะเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้น 


ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับความแห้งแล้ง ประกอบกับรัฐบาลอินเดียประกาศนโยบายอุดหนุนผู้ผลิตน้ำตาลของอินเดียเพื่อส่งออกมากถึง 6 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้สต็อกน้ำตาลของโลกปรับตัวเพิ่มมากขึ้น 


-ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 56.85 –57.15 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.10 – 0.63 เนื่องจากปริมาณสต็อกยางพาราของประเทศจีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลงและค่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น 


อย่างไรก็ตาม ราคายางพาราอาจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น    


-มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.00 - 2.06 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.48 – 3.38 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังปี 2564 ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2564 มีประมาณ 18.47 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 61.81 ของผลผลิตทั้งปีการผลิต 


-ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.80 - 6.95 บาท/กก. ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.57 - 2.72 เนื่องจากความต้องการปาล์มน้ำมันเพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลที่คาดว่าจะลดลง จากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานเพื่อการเดินทางขนส่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ลดลง 


อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ คาดว่าราคากลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้


 

-สุกร ราคาอยู่ที่ 68.83 - 70.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.86 –2.52 เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลงในแหล่งผลิตสุกรที่สำคัญ อาทิ จังหวัดราชบุรี และเชียงใหม่ ส่งผลให้ผลผลิตสุกรออกสู่ตลาดมากขึ้น 


ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่   ทำให้บางจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงเริ่มมีมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งอาจทำให้ความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและธุรกิจการท่องเที่ยวลดลง  


-กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 140.00 – 145.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 3.97 – 7.28 เนื่องจากสถานการณ์แพกุ้งจังหวัดสมุทรสาครปิดล็อกดาวน์ 


ทั้งนี้ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ผู้เลี้ยงกุ้งจำเป็นต้องหาแหล่งระบายผลผลิต ทำให้มีโอกาสถูกกดราคารับซื้อ ประกอบกับความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของอาหารทะเลอาจส่งผลให้ความต้องการในตลาดลดลง