“อธิบดีกรมอุตุฯ” จับตาพายุลูกใหม่กำลังก่อตัว

12 ก.ย. 2563 | 11:27 น.

​​​​​​​ข่าวดีไทยมีลุ้น “อธิบดีกรมอุตุ” เผยตอนนี้เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกภาคตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะก่อตัวเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ ในวันที่ 16-17 ก.ย.นี้ ย้ำยังไม่ใช่พายุลูกสุดท้าย

นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์

 

วันที่ 12 กันยายน 2563 นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ระหว่างมาดูการบริหารน้ำที่เขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำปีนี้ภาพรวมประเทศค่อนข้างน่าเป็นห่วงปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยมาก แล้วต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นในช่วงนี้ที่มีร่องมรสุม จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคอีสาน  ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมี "ฝนตกต่อเนื่อง" ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนพร้อมกันกันเก็กกักน้ำไว้ให้มากที่สุด

 

“ส่วนพายุกรมอุตุนิยมวิทยากำลังติดตามอยู่ ซึ่งตอนนี้เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุได้ และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ ในช่วงวันที่ 16-17 กันยายนนี้ มีลุ้นที่จะกระทบไทย แต่ก็เสียดายพายุ 2 ลูก ก่อนหน้านี้ ไปเข้าเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งก็หวังว่าจะพายุลูกนี้ไทยจะมีโอกาสลุ้น และไม่ใช่พายุลูกสุดท้าย ด้วย  อย่างไรก็ดีหากเคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้เมื่อไร ทางกรมอุตุนิยมวิทยา จะรีบรายงานให้ทราบ ก็ขอให้ติดตามกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

 

“อธิบดีกรมอุตุฯ” จับตาพายุลูกใหม่กำลังก่อตัว

 

อนึ่ง พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง