ปิดโรงกลั่น-เทรดวอร์ ฉุดส่งออกพ.ย.วูบหนัก

23 ธ.ค. 2562 | 14:00 น.

รายงาน

กระทรวงพาณิชย์เปิดตัวเลขมูลค่าการส่งออกไทยของไทยช่วง 11 เดือนแรกปี 2562  ติดลบ 2.8%  ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องมา 3 ไตรมาสแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าการส่งออกไทยยังไม่ฟื้นตัว และคาดจะยังชะลอตัวต่อเนื่องไปถึงต้นปีหน้า จากยังมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ "สหรัฐฯ-จีน" ส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกชะลอตัว เงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และยังมีความผันผวนในทิศทางที่แข็งค่า หลายสำนักคาดอาจแข็งค่าต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะยิ่งทำให้สินค้าไทยแข่งขันด้านราคายากขึ้น


-ปิดโรงกลั่นทำยอดวูบ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เผยว่า การส่งออกไทยในตลาดสำคัญ ๆ ในเดือนพฤศจิกายนล่าสุดที่ติดลบหนักถึง 7.4% เมื่อเทียกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวจากการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องที่ลดลง ซึ่งสาเหตุจากการปิดโรงกลั่นในไทยเพื่อซ่อมบำรุงในช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่า 11% ของการส่งออกไทยในภาพรวม ลดลงกว่า 27% แต่ในช่วงต้นปี 2563 จะกลับมาผลิตได้ตามเดิม

ปิดโรงกลั่น-เทรดวอร์ ฉุดส่งออกพ.ย.วูบหนัก

-ส่งออกรายตลาดสลบเหมือด

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน ตลาดหลัก ติดลบ 6.9%  เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯติดลบ 2.6% สหภาพยุโรปติดลบ 8.2%  และญี่ปุ่น ติดลบ 10.9%  ในขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง ติดลบ 6.1% เป็นผลจากการส่งออกไปเอเชียใต้ ติดลบ 15.2% อาเซียน(5) ติดลบ 11.1%  และ CLMV ติดลบ 9.3% จากการส่งออกสินค้ากลุ่มน้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ตามการส่งออกไปจีนในเดือนพฤศจิกายนกลับมาขยายตัว 2.3%  
ส่วนตลาดศักยภาพระดับรอง ติดลบ 12.8 % โดยตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS ติดลบ 26%  ทวีปออสเตรเลียติดลบ 22% แอฟริกาติดลบ 19%  และลาตินอเมริกา ติดลบ 10.9 % ขณะที่การส่งออกไปตะวันออกกลางขยายตัว 5.9 % ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกาติดลบ 2.6%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ 11 เดือนขยายตัว 11.4 % ส่วนตลาดสหภาพยุโรป(15) ติดลบ 8.2%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สันดาป 

 
ตลาดญี่ปุ่น ติดลบ 10.9%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่ 11 เดือนติดลบ 1.3% ส่วนตลาดจีน กลับมาขยายตัว 2.3% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ น้ำตาลทราย และ เม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่11 เดือนติดลบ 4.7% 

ปิดโรงกลั่น-เทรดวอร์ ฉุดส่งออกพ.ย.วูบหนัก
 

-อาเซียน-CLMV วูบด้วย

ส่วนตลาด CLMV  ติดลบ 9.3%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ เคมีภัณฑ์ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย รถยนต์ สินค้าปศุสัตว์ และเครื่องดื่ม ขณะที่ 11 เดือนติดลบ 7%  เช่นเดียวกับตลาดอาเซียน(5)  ติดลบ 11.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ และเม็ดพลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และน้ำตาลทราย ขณะที่ 11 เดือนติดลบ 9.6%

 
ตลาดเอเชียใต้ ติดลบ 15.2% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล และโทรทัศน์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่ 11 เดือนติดลบ 7.7% ตลาดอินเดีย ติดลบ 14.1% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ โทรทัศน์และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ และทองแดงฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่ 11 เดือนติดลบ 3.2%


ตลาดลาตินอเมริกา ติดลบ 10.9%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ หม้อแปลงไฟฟ้าฯ และเครื่องจักรกลฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ 11 เดือนติดลบ 6.5% ส่วนตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 5.9% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศฯ น้ำตาลทราย อาหารทะเลแปรรูปฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนติดลบ 2.9% 

ตลาดทวีปออสเตรเลีย ติดลบ 22% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลแปรรูปฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องจักรกลฯ ขณะที่11 เดือนติดลบ 3.9%  ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ติดลบ 26%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปฯ เครื่องปรับอากาศฯ และผลไม้กระป๋องฯ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา และเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ 11 ดือนติดลบ 12%


ตลาดทวีปแอฟริกา ติดลบ 19.3%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลแปรรูป เครื่องยนต์สันดาป และรถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ 11 เดือนติดลบ 10.4%


-สินค้าเกษตรโตสวนกระแส
แม้ว่าภาพรวมการส่งออกยังชะลอตัว แต่สินค้าส่งออกหลายรายการ สามารถขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าเกษตรและเกษตรอาหาร เช่น น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน นอกจากนี้ยังเห็นสัญญาณการกระจายตัวและขยายตลาดส่งออกไปตลาดใหม่มากขึ้นในสินค้าเกษตรสำคัญ เช่นข้าว ในตลาดอิรัก แคเมอรูน เคนยา ยางพารา ในตุรกี และน้ำตาล ในซูดาน ซึ่งแม้ว่ายังมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่ถือเป็นตลาดใหม่ที่ไม่ควรมองข้ามและเร่งเข้าทำตลาด โดยเฉพาะในช่วงที่การค้าเผชิญความท้าทายที่หลากหลายและรอบด้านในปัจจุบัน

-พาณิชย์เร่งดันทุกทาง
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง มุ่งมั่นเร่งรัดการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญและสินค้าอุตสาหกรรม ตามที่ได้ลงนามข้อตกลง MOU ในหลายประเทศ รวมทั้งสิ้น 35 ฉบับ มูลค่ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์ไก่สดและไก่แปรรูป มันสำปะหลัง และยางรถยนต์ เพื่อผลักดันการส่งออกในช่วงเดือนธันวาคม 2562 และไตรมาสแรกของปี 2563 ต่อไป และกระทรวงพาณิชย์จะเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA ในอนาคต เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
รวมไปถึงข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวลได้ในระยะสั้นว่าสงครามการค้าจะไม่ลุกลามถึงการขึ้นภาษีนำเข้าเต็มจำนวนระหว่างกัน เช่นเดียวกันกับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่มีความชัดเจนขึ้น

ปิดโรงกลั่น-เทรดวอร์ ฉุดส่งออกพ.ย.วูบหนัก

-ห่วงเทรดวอร์ลามยุโรป 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ – จีนในระยะที่ 2 ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากไม่มีรายละเอียดปรากฎแน่ชัด อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างที่คาดว่าต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรอง นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ จะยังกดดันแนวโน้มการส่งออกไทยในระยะสั้น – กลาง

 “อยากฝากถึงภาคนโยบาย โดยเฉพาะการค้าการลงทุน ต้องมีการทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างภาครัฐกับเอกชน ซึ่งหลังปีใหม่จะเสนอให้มีการจัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนก่อนที่จะเสนอในที่ประชุมกรอ.พาณิชย์ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน อย่างไรก็ตามสิ่งที่กังวลในขณะนี้คือสงครามการค้าที่ย้ายฝั่งไปยังยุโรป ระหว่างสหรัฐฯกับยุโรปเพราะยุโรปคงจะตอบโตกลับทันทีซึ่งน่าจะมีความรุนแรงมากกว่าจีน ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป"