อาหารแมว-สุนัขโตกระฉูด ‘ซีแวลู’ มั่นใจทะลุ 2.5 หมื่นล้าน

10 พ.ย. 2561 | 07:44 น.
อุตสาหกรรมทูน่าไทยยังครองอันดับ 1 โลกเหนียวแน่น ปี 2560 ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า (ทูน่าอาหารคน ทูน่าอาหารสัตว์) ได้ถึง 5.56 แสนตัน มูลค่ากว่า 7.78 หมื่นล้านบาท ปีนี้ช่วง 9 เดือนแรกส่งออกได้แล้ว 4.36 แสนตัน มูลค่า 6.0 หมื่นล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 4 และ 4% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สถานการณ์จากนี้ และแนวโน้มปีหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น “อมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) หรือซีแวลูกรุ๊ป หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ได้สะท้อนผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”

อมรพันธุ์3
มั่นใจยอด 2.5 หมื่นล้าน

“อมรพันธุ์” เผยว่า ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทางกลุ่มสามารถทำยอดขายได้แล้วที่ 1.8 หมื่นล้านบาทถือว่าทะลุเป้าหมาย และสิ้นปีนี้คาดจะปิดยอดได้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาทตามเป้าหมาย ในจำนวนนี้เป็นยอดขายในประเทศประมาณ 1,000 ล้านบาท (จากปี 2560 มียอดขายรวม 2.4 หมื่นล้านบาท) ปัจจัยที่เอื้ออำนวยในปีนี้ได้แก่ 1.ราคาวัตถุดิบปลาทูน่ามีเสถียรภาพมากกว่าปีที่แล้วโดยระดับราคาปีนี้เฉลี่ยที่ 1,400-1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากปีที่แล้วราคาเฉลี่ย 1,500-2,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้วางแผนในการบริหารจัดการต้นทุนได้ง่ายกว่า

2.แรงซื้อจากต่างประเทศยังมีการเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันสินค้าของทางกลุ่มส่งออกไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม ในจำนวนนี้สามารถรักษาสมดุลย์ตลาดได้ดีไม่พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป ได้แก่ ตลาดสหรัฐอเมริกาสัดส่วน 20% เอเชียรวมญี่ปุ่น 25% ยุโรป 15% ออสเตรเลีย 10% แอฟริกาและตะวันออกกลาง 15% ที่เหลือเป็นตลาดอเมริกาใต้และตลาดอื่นๆ โดยทุกตลาดยังขยายตัวเป็นบวก

และ 3. ซึ่งถือมีส่วนแต่ที่สำคัญที่สุด ผลจากตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงแมว-สุนัขในต่างประเทศและในประเทศเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งปีนี้ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงของทางกลุ่มเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 25% ของยอดขายทั้งหมด จากในปี 2559-2560 มีสัดส่วน 15% และ 20% ตามลำดับ

“ตลาดสหรัฐฯของเราโตขึ้นเยอะมาก เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอาหารสัตว์เลี้ยง ที่สหรัฐฯมีประชากรหมากับแมวรวมหลายร้อยล้านตัว ซึ่งตลาดตรงนี้หากสามารถจัดสินค้าได้ถูกต้องตรงตามเป้าหมาย ถูกกระแส ถูกเวลา โอกาสที่จะไปเร็วกว่าตลาดอื่นมีสูง อีกตลาดหนึ่งของอาหารสัตว์เลี้ยงที่เราเห็นว่ามาแรงและเติบโตแบบก้าวกระโดดคือตลาดจีน ช่วงนี้อาจจะยังเป็นลักษณะของสินค้าที่ราคายังถูกอยู่ แต่เชื่อว่าในอีกไม่นาน 4-5 ปีข้างหน้า จะเป็นตลาดที่เป็นพรีเมียมเซ็กเมนต์ หรือแม้กระทั่งซูเปอร์พรีเมียม”
ขยายลงทุนใน-นอก

สำหรับในปี 2562 เป้าหมายของทางกลุ่มปี 2562 อยู่ระหว่างการวางแผนขยายธุรกิจ งบดำเนินการและกำหนดเป้าหมาย ซึ่งจะได้ข้อสรุปในต้นเดือนธันวาคม เบื้องต้นมองว่าจากโมเมนตัมที่ดีในปีนี้จะส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า โดยช่วง 3-6 เดือนแรกน่าจะยังเป็นปีที่ดีของทางทูน่า โดยภาพรวมปี 2562 ยอดขายของกลุ่มจะยังขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่า 5%

ทั้งนี้ในการเพิ่มยอดขาย ณ ปัจจุบันทางกลุ่มได้ลงทุนเรื่องศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) และมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของทูน่าอาหารคนและอาหารสัตว์เลี้ยง การออกผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงใหม่ภายใต้แบรนด์ Petsimo เมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าช่วง 2 ปีจากนี้แบรนด์ Petsimo จะทำรายได้ที่ 100 ล้านบาท จากตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกันล่าสุดได้เตรียมลงทุนตั้งโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ ที่จังหวัดสมุทรสาคร ใช้เงินลงทุน 600-800 ล้านบาท โดยจะใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน คาดโรงงานจะแล้วเสร็จในปี 2563

“ในการสร้างโรงงานใหม่ จะนำเครื่องจักรและโนว์ฮาวที่มีความพิเศษเข้ามาจะเป็นสินค้าที่ทางกลุ่มไม่เคยผลิตมาก่อน และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดของวัตถุดิบที่ทางกลุ่มมี วันนี้มูลค่าของวัตถุดิบ ไม่ใช่ถูกลิมิตจำกัดแค่เนื้อทูน่าขาว เท่านั้นแต่ยังมีพวกเศษ หัว หาง ก้าง เครื่องใน เราจะนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งบางที่อาจจะไม่ใช่แค่อาหารสัตว์เลี้ยง อาจจะมาในรูปแบบขนม ผงซุปแมว ทำได้หลายอย่าง เพื่อตอบสนองตลาดสัตว์เลี้ยง ในอนาคตรายได้จากอาหารสัตว์เลี้ยง ทางกลุ่มอยากจะไปให้ถึงสัก 40% ของรายได้รวม โดยโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงที่จะลงทุนนี้น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้อีกปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท จะเริ่มผลิตในปี 2563”

ด้านธุรกิจในฝรั่งเศสหลังจากทางกลุ่มได้เข้าไปซื้อกิจการโรงงานทูน่าในฝรั่งเศส ภายใต้แบรนด์ “แอตแลนติกกูร์เมต์” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในฝรั่งเศสเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา สินค้าที่ผลิตเป็นทูน่าบรรจุถุง (ทูน่า เพาซ์) ขนาดใหญ่ 3-5 กิโลกรัมส่งป้อนให้กับฟูดเซอร์วิส เป็นหลัก ล่าสุดได้ใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 30 ล้านบาท ในการเซตไลน์ผลิตเป็นทูน่ากระป๋องเพื่อจำหน่ายทั้งในฝรั่งเศส และในตลาดยุโรป ซึ่งจะเริ่มผลิตได้ในปีหน้า

“อมรพันธุ์” กล่าวตอนท้ายว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมทูน่าไทยปีนี้ทุกบริษัทน่าจะทำรายได้และกำไรได้ดีระดับหนึ่ง ส่วนในปีหน้าปัจจัยเสี่ยงยังเป็นเรื่องเดิมๆ ที่ต้องบริหารจัดการให้ดี ทั้งปริมาณและราคาวัตถุดิบ ค่าเงินที่ยังผันผวน รวมถึงปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น
ราคานํ้ามันที่มีผลต่อราคาปลาวัตถุดิบ ส่วนเรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนมองโอกาสของสินค้าทูน่าจากไทยไปสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาสินค้าทูน่าจากจีนถือเป็นคู่แข่งไทยระดับหนึ่งจากมีตลาดหลักที่สหรัฐฯ เวลานี้สินค้าจีนถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า ไทยจึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สหรัฐฯจะนำเข้าเพิ่ม

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,417 วันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561