ส.ขอนแก่นลุยแฟรนไชส์ไซซ์เล็ก ปูพรมสาขาร้านข้าวขาหมูยูนนาน/หวังเห็นกำไร Q3 ปี 60

02 ส.ค. 2559 | 08:00 น.
ส.ขอนแก่น ลุยขายแฟรนไชส์ ร้านอาหารอีสาน แซ่บ คลาสสิคและร้านข้าวขาหมู ยูนนาน พร้อมปรับโมเดลให้มีขนาดเล็กลงด้วยทุนไม่เกิน 5 แสนบาท เจาะตลาดแหล่งชุมชน ขายจานละ 35-40 บาท หวังปูพรมสาขาเร่งทำกำไรไตรมาส 3 ปี 2560 ขณะที่ปีนี้ยังหวังสร้างการเติบโตต่อเนื่อง 15%

[caption id="attachment_76860" align="aligncenter" width="354"] เจริญ รุจิราโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เจริญ รุจิราโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายเจริญ รุจิราโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะเน้นการขยายธุรกิจ ด้วยการเปิดขายแฟรนไชส์ร้านข้าวขาหมูยูนนาน และร้านอาหารอีสานแบรนด์ แซ่บ คลาสสิค ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหารจานด่วน (QSR) จากเดิมที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนเอง ปัจจุบันบริษัทมีสาขาร้านแซ่บ คลาสสิค 8 แห่ง เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ 1 แห่ง ขณะที่ร้านข้าวขาหมูยูนนานมีจำนวนสาขา 35 แห่ง เป็นสาขาในประเทศ 32 แห่ง ในประเทศกัมพูชา 1 แห่ง และสปป.ลาว 2 แห่ง

สำหรับร้านแซ่บ คลาสสิค บริษัทวางแผนขายแฟรนไชส์ให้ผู้สนใจ 3-4 ราย ปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจและอยู่ระหว่างการพิจารณา ทำให้ภายในปีนี้จะมีสาขาอย่างน้อย 12 แห่ง ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะใช้เม็ดเงินประมาณ 5-8 ล้านบาท สำหรับร้านในขนาด 70-80 ที่นั่ง ส่วนร้านข้าวขาหมูยูนนานมีแผนปรับรูปแบบการขายแฟรนไชส์ใหม่ให้มีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 5 แสนบาทต่อสาขา รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาอาจจะเปลี่ยนชื่อร้านใหม่ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับร้านข้าวขาหมูยูนนานในรูปแบบเดิม ที่ใช้เม็ดเงินการลงทุนต่อสาขา 1.8-2.5 ล้านบาทด้วย

"เดิมข้าวขาหมูยูนนานจะขยายสาขาในปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ ที่จำหน่ายได้เดือนละ 1 ล้านลิตรขึ้นไป ซึ่งมีข้อดีคือเรื่องที่จอดรถที่สะดวกสบาย แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องกลุ่มลูกค้าที่มีปริมาณจำกัดด้วย ทำให้บริษัทมีแนวคิดที่จะปรับขนาดแฟรนไชส์เป็นขนาดเล็ก ที่มีการลงทุนไม่สูงและขยายไปตามแหล่งชุมชน โดยคงคุณภาพของสินค้าไว้เหมือนเดิม แต่มีราคาขายที่ถูกลงเฉลี่ยจานละ 35-40 บาท จากปกติที่ขายจานละ 59 บาท แต่รูปแบบเดิมยังคงขยายต่อไปเมื่อมีทำเลที่ดีในปั๊มน้ำมัน และมีโอกาสในการลงทุนที่ดี แต่คงจะไม่ขยายไปตามห้างสรรพสินค้า เพราะใช้เงินลงทุนที่สูง"

สำหรับการลงทุนในธุรกิจอาหารจานด่วนปัจจุบันยังถือว่าไม่มีกำไร เนื่องจากจำนวนสาขายังมีปริมาณไม่มากพอจนถึงจุดคุ้มทุน เพราะบริษัทได้ลงทุนทางด้านบุคลากร และการลงทุนครัวกลาง ที่จะต้องให้มีปริมาณสาขาที่มากพอก่อน ซึ่งตามแผนธุรกิจที่ได้วางไว้หากมีจำนวนสาขาครบ 60 แห่ง จึงจะถึงจุดคุ้มทุน และคาดว่าบริษัทน่าจะเริ่มมีกำไรจากธุรกิจอาหารจานด่วนได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2560

โดยในปีนี้บริษัทได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตปีนี้ไว้ 15% หรือคิดเป็นยอดขายรวม 2,764 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามียอดขาย 2,368 ล้านบาท โดยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มียอดขายเติบโต 11% หรือคิดเป็นมูลค่า 626.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งรายได้หลักยังมาจากกลุ่มธุรกิจอาหารพื้นเมืองสัดส่วน 40.57% รองลงมาเป็นธุรกิจอาหารทะเล สัดส่วน 35.03% ธุรกิจฟาร์มสุกร สัดส่วน 8.78% ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน สัดส่วน 7.28% ธุรกิจอาหารจานด่วน 4.4% และธุรกิจสแน็ก สัดส่วน 3.94%

ส่วนแผนการลงทุนในปีนี้ได้เตรียมงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อเครื่องจักรสำหรับการผลิตสินค้าในกลุ่มฮาลาลในโรงงานแห่งที่ 2 จากปีที่ผ่านมาได้ลงทุนไปประมาณ 370 ล้านบาท เพื่อผลิตขนมขบเคี้ยวจากไก่และอาหารทะเล เพื่อขยายตลาดกลุ่มลูกค้าฮาลาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ปัจจุบันออกสินค้ามาแล้ว 2 รายการเป็นสแน็กไก่รสคลาสสิค และรสต้มยำ ขายผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559