นาฬิกาแบรนด์แห่เข้าตลาดคึก รับขาโจ๋วัยทำงาน / นักท่องเที่ยว

10 มิ.ย. 2559 | 10:00 น.
นายอาลาน ยี รองประธาน บริษัท ฟอสซิล เอเชียแปซิฟิก จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดสินค้า ภายใต้แบรนด์ “ฟอสซิล” (Fossil) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไทยยังเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อดี เห็นได้จากยอดขายที่เติบโตต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย กอปรกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ทำให้เชื่อว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ทำให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุน โดยร่วมกับบริษัท วารีรัม ประเทศไทย จำกัด นำเข้าแบรนด์ฟอสซิล มาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ 17 โดยได้เปิดร้านแฟลกซ์ชิพสโตร์สาขาแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

“ตลาดนาฬิกาเมืองไทยถือเป็นตลาดที่ใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก มีความหลากหลายของแบรนด์นาฬิกาทั้งแบรนด์คลาสสิค และแบรนด์แฟชั่น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย รวมทั้งศักยภาพการเติบโต ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังดี บวกกับการท่องเที่ยวที่เติบโตถือเป็นปัจจัยบวก ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายและสร้างการเติบโตได้ดี ฟอสซิลจึงเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้ามาทำตลาด สำหรับแนวทางการทำตลาดในประเทศไทยนับจากนี้ จะชูจุดเด่นของแบรนด์ในความเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ ที่มีความหลากหลายและสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน แต่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยวางเป้าหมายที่จะมีสาขาครบ 10-15 แห่ง ภายใน 3 ปี”

นอกจากนี้แนวการทำตลาดจะยึดหลักเดียวกับประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ราว 80-90% ส่วนที่เหลือ 10- 20% เป็นการทำตลาดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ของพันธมิตรในแต่ละประเทศ เช่น การจัดหาพรีเซ็นเตอร์ เป็นต้น ซึ่งบริษัท วารีรัมฯ มีความแข็งแกร่งและมีแบรนด์ที่บริหารอยู่หลายแบรนด์ อาทิ วิคตอเรีย ซีเคร็ท ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันในตลาดได้ และจะสร้างแบรนด์ฟอสซิลให้ติดตลาดได้

โดยฟอสซิลจะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับบีบวกขึ้นไป หรือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 22-30 ปี โดยสัดส่วนสินค้าที่จำหน่ายประกอบด้วยนาฬิกา 25-35% กระเป๋า 45% และจะโฟกัสการทำตลาดกระเป๋าสะพายผู้หญิงขนาดกลาง เนื่องจากบริษัทมีกระเป๋าที่หลากหลายและกลุ่มผู้หญิงนิยมซื้อกระเป๋าหลายใบ ส่วนกลุ่มนาฬิกาวางเป้าหมายในอีก 3ปีข้างหน้า จะมีส่วนแบ่งการตลาด 5% ซึ่งหลังจากทำตลาดในประเทศไทยแล้ว เตรียมแผนขยายตลาดไปอีกหลายประเทศ เช่น อินเดีย ฯลฯ ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้

ด้านนางวิภาวรรณ มหาดำรงค์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีทองพาณิชย์ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกา อาทิ แบรนด์ซิติเซ็น มิโด บอลล์ และแฮมิลตัน กล่าวว่า ตลาดนาฬิการะดับราคาตั้งแต่ 1 หมื่นบาท-1 แสนบาท ยังมีโอกาสการเติบโตได้ จากพฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมซื้อนาฬิกามาสวมใส่ แต่จะเลือกใช้นาฬิกาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฬิกาโดยเฉพาะ ไม่เน้นแบรนด์นาฬิกาแฟชั่น ขณะเดียวกันยังมีแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อนาฬิกาเป็นจำนวนมาก

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 4 เดือนแรกที่ผ่านมาพบว่า ตลาดนักท่องเที่ยวมียอดขายเติบโต 15% ขณะที่ลูกค้าคนไทยยังทรงตัว ส่งผลให้ภาพรวมของบริษัทยังมียอดขายเท่ากับปีก่อน ขณะที่ภาพรวมตลาดนาฬิกาลดลงประมาณ 5% จึงตั้งเป้าที่จะมีผลประกอบการโดยรวมเติบโต 5-7% โดยมีกลยุทธ์คือจัดโปรโมชั่นที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งเริ่มจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมโปรโมชั่นต่างๆ แล้ว

“หลังจากที่บริษัทปรับราคาสินค้าลดลง เพื่อลดช่องว่างด้านราคากับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวนิยมซื้อนาฬิกาจากประเทศไทยมากขึ้น โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญที่ทำให้ตลาดยังเติบโตได้ นอกจากชาวจีนแล้วยังมีชาวเกาหลีที่เป็นลูกค้าสำคัญ ล่าสุดบริษัทได้เป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาลูมินอกซ์ (Luminox) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีระดับราคา 1.2-8 หมื่นบาท ที่คาดว่าจะทำยอดขายได้ 60-100 ล้านบาท เนื่องจากปรับลดราคาจากเดิมลงมา 10-15% และขยายจุดขาย 20 แห่งปีนี้ และเพิ่มเป็น 40 แห่งในปีหน้าด้วย”

นางสาวสายหยุด วิศัลยางกูร ผู้จัดการนาฬิกาและเครื่องประดับ คาลวิน ไคลน์ บริษัท สวอตช์ กรุ๊ป เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและทำตลาดนาฬิกา กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้านาฬิการาคาระดับกลางยังเติบโตได้ เมื่อเทียบกับนาฬิการะดับบน อาทิ แบนด์คาลวิน ไคลน์ (Calvin Klein) ที่เป็นนาฬิกาแฟชั่น และชูจุดขายด้วยการผลิตจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และยังมีราคาเข้าถึงได้ง่าย ในราคาเฉลี่ย 6 พัน – 1 หมื่นบาท ซึ่งแนวทางการทำตลาดได้เตรียมนำเข้าสินค้ารูปแบบใหม่ๆ กว่า 20 รุ่น 20 แบบ โดยวางแผนเปิดตัวทุกๆ 4 เดือน

สำหรับการทำตลาดในปีนี้ยังคงเน้นการจัดกิจกรรมทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากความหลากหลายของสินค้าและรูปแบบที่พัฒนาให้มีความสวยงามขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อาทิ งานเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่ การทำกิจกรรมซีอาร์เอ็มด้วยการส่งข้อมูลข่าวสารให้ลูกค้าโดยตรงทุกเดือน

นอกจากนี้จะเพิ่มร้านค้าตัวแทนจำหน่าย และอาจจะขยายพื้นที่เคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า หลังจากได้ทดลองขยายพื้นที่สาขาพารากอนไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้ามองเห็นแบรนด์คาลวิน ไคลน์ได้ง่ายขึ้น และยังสามารถโชว์สินค้าได้หลากหลาย ส่งผลให้ยอดขายช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจุบันแบรนด์นาฬิกาและเครื่องประดับคาลวิน ไคลน์ มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าทั้งหมด 15 แห่ง และแฟล็กชิฟ สโตร์ 1 แห่ง

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559