กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50  ต่อปี

11 พ.ค. 2559 | 07:42 น.
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50  ต่อปี ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินนโยบาย มีดังนี้  เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกสินค้าซึ่งไม่รวมทองคำหดตัว และการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ โดยมีการขยายตัวเฉพาะในบางธุรกิจ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณอ่อนแรงลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากครัวเรือนภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโน้มไปด้านต่ำมากขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง นอกจากนี้ ในบางช่วงที่ผ่านมาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งบางสกุลอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร ในระยะต่อไป ความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกในเดือนเมษายนตามผลของฐานราคาน้ำมันสูงในช่วงก่อนหน้าที่ลดลง และราคาอาหารสดที่เร่งขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มทรงตัว คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับสูงขึ้นตามผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่ค่อยๆ ลดลงตามลำดับ แต่ยังเผชิญความไม่แน่นอนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและอุปสงค์ในประเทศที่มีสัญญาณอ่อนแรงลง

ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศ  อย่างไรก็ดี ภาวะการเงินในปัจจุบันผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ าและอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรักษาขีดความสามารถในการด าเนินนโยบาย (policy space) รวมทั้งยังคงต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินโดยรวมจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ