ธุรกิจส่งออกรับมืออย่างไร เมื่อการค้าโลกยุคใหม่ไม่ได้มีแค่ภาษี?

27 เม.ย. 2559 | 09:38 น.
unnamed ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์  ออกบทวิเคราะห์เรื่อง ธุรกิจส่งออกรับมืออย่างไร เมื่อการค้าโลกยุคใหม่ไม่ได้มีแค่ภาษี?

Highlight:

แม้ว่าภาษีศุลกากรจะเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ผู้ส่งออกคุ้นเคยมาเป็นเวลานาน แต่สิ่งที่กลายเป็นปัญหาหลักในการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ คือ มาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff measures: NTMs) เพราะทำให้ธุรกิจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ใช้เวลาดำเนินการนานขึ้น และสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดสูงกว่าภาษีถึง 2 เท่า นอกจากนี้ การปฏิบัติตามเงื่อนไข NTMs ยังไม่ได้เป็นการรับประกันว่าธุรกิจจะสามารถทำกำไรและเจาะตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ อีไอซีจึงแนะเคล็ดลับให้ผู้ประกอบการปรับตัวมุ่งสู่การผลิตด้วยมาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า รวมไปถึงประเมินความสามารถของตนเองในการทำตามเงื่อนไขต่างๆ และเลือกส่งออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของแต่ละตลาด

Implication:

ปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุ่งผลิตสินค้าด้วยมาตรฐานสากล อีไอซีมองว่าการปรับปรุงมาตรฐานสินค้านอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการในตลาดส่งออกแล้ว ยังช่วยพัฒนากระบวนการผลิตในประเทศและส่งผลดีต่อผู้บริโภคชาวไทยที่จะได้ใช้สินค้ามีคุณภาพสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ หากในอนาคต NTMs ถูกลดให้น้อยลงส่งผลให้สินค้าต่างชาติเข้ามาทำตลาดในไทยได้ง่ายขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการที่พัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตให้เทียบเท่าระดับสากลก็จะไม่ถูกคู่แข่งต่างชาติแย่งชิงตลาดภายในประเทศได้โดยง่าย

มองหาช่องทางเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไทยมีความได้เปรียบจากวัตถุดิบอันอุดมสมบูรณ์ แต่กลับได้รับผลกระทบจาก NTMs สูงมาก โดยส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าขั้นต้น หรือสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เช่น ผักสด ผลไม้สด เนื้อสัตว์แช่เย็น และแช่แข็ง ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เช่น แปรรูปผักผลไม้เป็นขนมหรืออาหารสำเร็จรูป ก็จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงและความเสียหายอันเนื่องมาจาก NTMs ได้

เลือกเจาะตลาดที่ตนเองสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ และผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าชนิดนั้นจริงๆ แม้ว่าการทำตามข้อกำหนดต่างๆ จะเป็นก้าวแรกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้าเข้าไปเสนอขายยังตลาดต่างประเทศได้ แต่ NTMs ของแต่ละประเทศมีความเข้มงวดและต้นทุนในการปฏิบัติตามที่ต่างกัน อีกทั้งผู้บริโภคแต่ละชาติยังมีรสนิยมที่หลากหลาย ธุรกิจจึงควรศึกษาความต้องการของตลาดอย่างถี่ถ้วน และประเมินความสามารถของตนในการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่ส่งออกไปจะตอบโจทย์ผู้บริโภคและธุรกิจสามารถสร้างกำไรได้จริง

ผู้เขียน: วีรวรรณ ฉายานนท์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์