AIS เตือน!ผู้ใช้มือถืออย่าคลิกข้อความในรูปพิชชิ่ง ในรูปแบบ “ลวงให้กรอก หลอกให้กด”

14 มิ.ย. 2564 | 09:46 น.

AIS เตือน!ผู้ใช้มือถืออย่าคลิกข้อความในรูปพิชชิ่ง ให้กดรับข้อความ ใช้ความสับสนช่วงลงทะเบียนรับสิทธิ์ต่างๆสร้างกลโกงออนไลน์ ภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ “ลวงให้กรอก หลอกให้กด”

วันที่ 14 มิ.ย. นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS  เปิดเผยว่า ท่ามกลางความสับสนของข้อมูลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างผลกระทบกับผู้คนในทุกสาขาอาชีพ ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพใช้เรื่องดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการสร้างกลลวงกับประชาชน สร้างความเสียหายจากภัยไซเบอร์ในช่วงนี้มากมาย AIS โดย AIS อุ่นใจCyber คู่คิดดิจิทัล เพื่อคนไทยทุกเจเนอเรชัน ได้เฝ้าระวังและเห็นพฤติกรรมของมิจฉาชีพและกลโกงออนไลน์ จึงขอเป็นอีกหนึ่งเสียงเตือนคนไทยระวังภัยไซเบอร์ที่มาในรูปแบบของฟิชชิ่ง (Phishing) “ลวงให้กรอก หลอกให้กด” ซึ่งอาจทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนตัว จนสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินได้

 

 

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม

 

“จากการเฝ้าระวังของ AIS อุ่นใจCyber ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการรับแจ้งร้องเรียนจากกลุ่มลูกค้า ทำให้เราเห็นถึงพฤติกรรมการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของ Phishing ที่เป็นลักษณะของลิงค์ผ่าน SMS โดยใช้ข้อความลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัวจากสถานการณ์ความสับสนของข้อมูลในปัจจุบันเช่น แจกเงินเข้าบัญชี, แจกสติ๊กเกอร์ หรือแม้แต่แจกวัคซีน COVID-19 ยกตัวอย่างบางรายได้รับ SMS ปลอม ว่าได้รับเงินจำนวน 100,000 โดยอ้างถึงธนาคารต่างๆ พร้อมแสดงโลโก้ หรือลิงค์ชื่อธนาคารที่มีการปรับเปลี่ยนบางส่วนจนสังเกตได้ยาก หรือมีบางรายได้รับข้อความว่าเป็นผู้โชคดีได้รับการฉีดวัคซีน จนนำไปสู่การหลอกให้กดลิงก์เพื่อยืนยัน ซึ่งเป็นการใช้ความสับสนของประชาชนมาเป็นกลลวงที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายได้ ทั้งทรัพย์สิน และการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล”

AIS อุ่นใจCyber มีความห่วงใยคนไทยอย่างมาก เพราะรูปแบบการหลอกลวงในวันนี้มาพร้อมกับข้อมูลความเดือดร้อนท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน จึงขอเน้นย้ำว่าหากได้รับลิงค์ผ่าน SMS เกี่ยวกับรางวัล หรือการเป็นผู้โชคดีต่างๆ ขอให้ตั้งสติ อย่าตกใจ อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น ต้องตรวจสอบลิงค์ที่ได้รับว่าจริงหรือไม่ มีคำหรือภาษาแปลกๆ ที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ส่งมาหรือไม่ สมเหตุ สมผลหรือเปล่า ที่สำคัญอย่าเพิ่งกดลิงค์นั้นโดยทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง