“มหาดไทย”เทคโอเวอร์ “หมอพร้อม” 

13 มิ.ย. 2564 | 06:50 น.

กระทรวงมหาดไทยเข้ายึด “หมอพร้อม”เปิดให้ประชาชนตรวจสอบการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย(มท.)  ได้เข้าไปดำเนินการจัดให้มีการตรวจสอบการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์สำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย ที่ https://webapp.bora.dopa.go.th/mophapp/

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ เสมือนกับการเข้ามาเทคโอเวอร์ “หมอพร้อม” ของ กระทรวงมหาดไทย จาก กระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ในการควบคุมของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 

ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลน “วัคซีนโควิด-19” ไม่มีจัดสรรให้กับทางกรุงเทพมหานคร(กทม.) และจังหวัดต่าง ๆ แต่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่เสี่ยงมากมายนัก กลับมีวัคซีนไปฉีดให้ประชาชนจำนวนมาก 

ขณะเดียวกัน ทาง “รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย” ก็ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนไปฉีดวัคซีนโควิดที่ “สถานีกลางบางซื่อ” ซี่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ที่มี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยคุมอยู่ โดยไม่มีปัญหาเรื่องการหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนที่นี่แต่อย่างใด 

ผิดกับทาง "กทม." ที่พร้อมดำเนินการให้ประชาชนได้ซีดวัคซีนโควิด แต่กลับไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนให้      

                                          “มหาดไทย”เทคโอเวอร์ “หมอพร้อม” 

ปัญหาการจัดหาวัคซีนที่ “ไม่มาตามนัด”  ทำให้ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ต้องทุบโต๊ะ ยึดอำนาจการบริหารสั่งการ “วัคซีนโควิด” มาไว้ที่ตนเองแต่เพียงผู้เดียว 

โดยเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา “นายกรัฐมนตรี” ได้ออกประกาศ ต่อเนื่องจาก เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 29 เม.ย.2564 เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 

ให้นายกรัฐมนตรี สามารถสั่งตรงหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการ 6 เรื่อง ประกอบด้วย 

1.ให้มีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอแก่ประชาชนโดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากรห้าสิบล้านคน) 

2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

3.ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้นๆ กำหนด

4.เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชน และภาคเอกชน อาจจัดหา หรือ ขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
 

5.โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤติมีความเป็นธรรมมากที่สุด 

และ 6.ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล กับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

มาตรการทั้ง 6 ข้อดังกล่าว ที่ประกาศออกมา เท่ากับว่า “นายกรัฐมนตรี” จะเข้าไปสั่งการหน่วยงาน คณะกรรมการต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข โดยตรง เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 

ก่อนหน้านี้ แม้ “นายกรัฐมนตรี” จะยึดอำนาจตามกฎหมาย 31 ฉบับ มาไว้ที่ตนเองเพื่อแก้วิกฤติโควิด แต่ในแง่ข้อกฎหมาย หน่วยงาน คณะกรรมต่าง ๆ ยังรายงานตรงกับ “รมว.สาธารณสุข” อยู่ดี 

ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ “นายกรัฐมนตรี” จะใช้อำนาจสั่งการเองโดยตรง 

และคงผ่านการประเมินมาแล้วว่า หากปล่อยให้หน่วยงานสาธารณสุข และกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารวัคซีน รายงาน และสั่งตรง จาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” ต่อไป สถานการณ์โควิดคงจะ “ยุติ” ลงยาก เพราะมีปัญหาเรื่อง “วัคซีนการเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้อง 

ดังนั้น เมื่อตัดปัญหา “วัคซีนการเมือง” ออกไป การแก้ปัญหาเรื่องวัคซีนน่าจะทำได้สะดวกโยธินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจาก “วัคซีนไม่มาตามนัด” ก็ยังส่งผลกระทบกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนไว้แล้ว หรือหน่วยงานที่ได้ประกาศให้ประชาชนมารับบริการฉีดวัคซีน แต่ก็มีปัญหาต้องประกาศ “เลื่อน”การฉีดวัคซีนออกไป 

อย่าง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งขึ้นกับกระทรวงแรงงาน ที่มี สุชาติ ชมกลิ่ม รมว.แรงงาน จากพรรคพลังประชารัฐ คุมอยู่ ก็ต้องเกิดปัญหา “ผิดนัด” จากเดิมที่ประกาศให้ “ผู้ประกันตน ม.33” มารับการฉีดวัคซีน ตามศูนย์ฉีดวัคซีน 45 แห่ง ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ แต่ต้องประกาศ “เลื่อน” ออกไป เพราะไม่มีวัคซีนมาฉีดให้ โดยอ้างเรื่องการปรับปรุงสถานที่

ก่อนที่ในเวลาต่อมา สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จะมาบอกว่า กระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตน ม.มาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับมาเปิดบริการฉีดได้ใหม่ในวันจันทร์ที่ 14 มิ.ย.นี้

อำนาจการบริหารจัดการโควิด-19 วัคซีนโควิด-19 และ หมอพร้อม ที่เดิมอยู่ในการกำกับควมคุมดูแลของ กระทรวงสาธารณสุข เจ้ากระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ “หลุด” ออกจากมือไปแถบหมดสิ้น ไม่เหลือหลออะไรแล้ว