“บิ๊กตู่”เขี่ย“อนุทิน”พ้นบริหารวัคซีนโควิด

09 มิ.ย. 2564 | 07:44 น.

ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ออกมาล่าสุด ถือได้ว่าเป็นการ “เขี่ย”เจ้ากระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล พ้นวงจรการร่วมบริหารวัคซีน ก็ว่าได้

 

 “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด- 19 ลุยปลดล็อกการ “จัดหาวัคซีนโควิด” เพื่อเปิดทางให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดหาวัคซีนเพื่อเร่งกระจายฉีดให้กับประชาชนได้เร็วและจำนวนมากขึ้น  

หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการลดอำนาจกระทรวงสาธารณสุข “เขี่ย” เจ้ากระทรวงสาธารณสุข “อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พ้นจากการร่วมบริหารวัคซีนโควิด ก็ว่าได้ 

เพราะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ออกเมื่อ 8 มิ.ย.25 64 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 บ่งชี้ว่ารูปการณ์มันเป็นเช่นนั้น 

เนื่องจากมาตรการทั้ง 6 ข้อ ที่ประกาศออกมา เท่ากับว่า “นายกรัฐมนตรี” ได้เข้าไปสั่งการหน่วยงาน คณะกรรมการต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข โดยตรง เกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนโควิด

ก่อนหน้านี้ แม้จะมีประกาศลงวันที่ 27 เม.ย.2564 เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) คุม พ.ร.บ. 31 ฉบับ เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้วิกฤติโควิด 

โดยมีกฎหมายในส่วนที่เป็นอำนาจของ “รมว.สาธารณสุข” ที่ถูกยึดมาอยู่ในอำนาจของนายกฯ ก่อนหน้านี้ มี 12 ฉบับ ทั้ง พรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ, พรบ.องค์การเภสัชกรรม, พรบ.อาหาร, พรบ.ยา 

แต่ในแง่ข้อกฎหมาย หน่วยงาน คณะกรรมต่าง ๆ ยังรายงานตรงกับ “รมว.สาธารณสุข” อยู่ดี

ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ “นายกรัฐมนตรี” จะใช้อำนาจสั่งการเองโดยตรง 

และคงผ่านการประเมินมาแล้วว่า หากปล่อยให้หน่วยงานสาธารณสุข และกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารวัคซีน รายงาน และสั่งตรง จาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ต่อไป คงจะมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง
 

จึงเป็นเหตุให้ “นายกรัฐมนตรี” ต้องอาศัยหลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 29 เม.ย.2564

โดยนายกรัฐมนตรี สามารถสั่งตรงหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการ 6 เรื่อง ประกอบด้วย

1.ให้มีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอแก่ประชาชนโดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากรห้าสิบล้านคน)

2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

3.ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุข แก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้นๆ กำหนด

4.เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชน และภาคเอกชน อาจจัดหา หรือ ขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

5.โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤติมีความเป็นธรรมมากที่สุด

และ 6.ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล กับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ
 

น่าสนใจว่า เมื่อมีประกาศนี้ออกมา “อนุทิน ชาญวีรกูล” ถูกเขี่ยพ้นวงจรการบริหารจัดการ “วัคซีนโควิด” 

ตัดปัญหา “วัคซีนการเมือง” 

แต่ปัญหาระหว่าง “นายกฯ” กับ “พรรคภูมิใจไทย” จะระอุขึ้นหรือไม่  

ก่อนหน้านี้ เมื่อครั้ง นายกฯ ออกประกาศเข้าคุม พ.ร.บ.31 ฉบับ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ก็ได้ดาหน้าออกมาถล่ม “บิ๊กตู่” จมเขี้ยวมาแล้ว  

ดังเช่น เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2564 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนสมาชิกพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน และการตั้ง ศบค. ซึ่งการใช้อํานาจพิเศษเป็นสิ่งที่ นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถนัดที่สุด จึงไม่แปลกที่มีการเลือกใช้อํานาจพิเศษในการจัดการกับโรคระบาด ซึ่งโครงสร้างของ ศบค. ได้ตัดการมีส่วนร่วมของภาคการเมืองออก รวมถึงได้ตัดคณะรัฐมนตรีออกจากการทํางานใน ศบค. 

ขณะเดียวกัน บรรดาส.ส.พรรคภูมิใจไทย ยังใช้เวทีสภาถล่ม “บิ๊กตู่” ในวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณราชจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 

โดย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายส่งสัญญาณไปยังนายกฯ ว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล การอยู่ร่วมกันจะต้องอยู่ร่วมกันแบบเข้าใจกัน 

ในการจัดสรรงบประมาณวันนี้ มีความพยายามใช้รัฐราชการเข้ามาแทรกแซงการจัดสรรงบครั้งนี้ โดยสำนักงบประมาณยังทรงอิทธิพลในการทำงานอย่างแยบยล จนทำให้กระบวนการเสียหาย ซึ่งผมนไม่เชื่อว่านายกฯจะทราบเรื่องนี้

“ในฐานะสมาชิกพรรคภูมิใจไทย พวกผมทำงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยความจริงใจ ขณะที่คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ก็ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ แต่การโอนอำนาจกระทรวงสาธารณสุขไปอยู่ที่ศบค. ซึ่งมีการดำเนินการโดยเลขาฯสมช. ซึ่งเป็นข้าราชการซี 11 แต่กลับมีอำนาจมากกว่า  ท่าน (นายกฯ) จะรู้หรือไม่ว่าเรารู้สึกอย่างไร”

“รัฐบาลบิ๊กตู่”ยังจะมี “พรรคภูมิใจไทย” อยู่ร่วมรัฐนาวาต่อไป จนตลอดลอดฝั่งหรือไม่ น่าติดตามยิ่งนัก...

              “บิ๊กตู่”เขี่ย“อนุทิน”พ้นบริหารวัคซีนโควิด                  

 

                 “บิ๊กตู่”เขี่ย“อนุทิน”พ้นบริหารวัคซีนโควิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :