หอการค้าสงขลาหนุนคก.จะนะ แนะเร่งทำความเข้าใจผู้นำชุมชน

31 มี.ค. 2564 | 06:07 น.

ประธานหอการค้าสงขลา หนุนโครงการ จะนะ มั่นใจสร้างงาน สร้างรายได้  แนะ ศอ.บต. -สภาพัฒนฯ -TPIPP  เร่งแจงผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และชาวบ้าน ทำข้อตกลงจ้างงานคนในพื้นที่ในตำแหน่งที่ดีไม่ใช่แค่แม่บ้านหรือภารโรง

นายธนวัฒน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวถึงโครงการ จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตว่า  ภาคเอกชนเห็นด้วย กับการผลักดันให้ โครงการ จะนะ ให้สำเร็จ เพราะที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ เช่นโรงไฟฟ้า หรือโครงการมอเตอร์เวย์ ไม่เคยผลักดันสำเร็จ ซึ่งการมีโครงการขนาดใหญ่ จะส่งผลดีเรื่องการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับคนในท้องถิ่น เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2

หอการค้าสงขลาหนุนคก.จะนะ  แนะเร่งทำความเข้าใจผู้นำชุมชน

แต่อย่างไรก็ตามจะต้องรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนและเอ็นจีโอ รวมถึงกลุ่มชาวบ้าน เพราะมีทั้งเห็นด้วย และที่ไม่เห็นด้วย ที่กังวลเรื่องปัญหาเรื่องมลพิษ สุขภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องไปชี้แจงให้เกิดความเข้าใจว่า โครงการดังกล่าว เป็นอุตสาหกรรมสะอาด ไม่ทำลายวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน และทำลายอาชีพการเลี้ยงนกเขา ดังนั้น ศอ.บต. สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ TPIPP ซึ่งเป็นเอกชนที่จะเข้าไปทำโครงการจะต้องทำชี้แจงกับชุมชนเพื่อให้เกิดความเชื่อใจ เพราะถ้าไม่เชื่อใจก็จะเกิดความขัดแย้งซึ่งล่าสุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีการกล่าวหาว่ามีการกว้านซื้อที่ดินและมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น สิ่งที่หอการค้าสงขลามองว่า การจะขับเคลื่อนโครงการ ต้องดำเนินการ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา  เพราะชุมชนจะเชื่อใจและเชื่อมั่นกับผู้นำชุมชนและ ผู้นำศาสนา    ในขณะที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และศอ.บต.  จะต้องชี้แจงทำความเข้ากับภาคประชาชนเพื่อให้รับรู้ว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร

ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจง ให้ชัดเจนว่าการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นชาวบ้านในพื้นที่จะต้องได้รับการจ้างงานในตำแหน่งที่มีค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม เพราะส่วนใหญ่นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ คนนอกพื้นที่มักจะได้รับการจ้างงานในตำแหน่งงานที่ดีเช่น วิศวกร ในขณะที่คนในพื้นที่จะได้รับการจ้างในตำแหน่งแม่บ้าน ภารโรง และคนงาน  ซึ่ง TPIPP จะต้องทำข้อตกลงกับชุมชน เช่น  ให้จ้างงานกับบุตรหลานของคนในพื้นที่เป็นลำดับแรกก่อน เพราะโครงการยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี ทำให้มีเวลาที่ลูกหลานคนในชุมชนจะเรียนจบเพื่อกลับมาทำงานที่บ้านเกิดในอนาคต”