ศก.ไทยฟื้นช้า เข็นท่องเที่ยวไม่ขึ้น

26 มี.ค. 2564 | 18:00 น.

ธปท.ยอมรับ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาค เหตุพึ่งพาท่องเที่ยวสูง พร้อมปรับลดจีดีพีปี 64 เหลือขยายตัว 3.0% จากเดิม 3.2% เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือเพียง 3 ล้านคน ยันยังต้องการกระตุ้นจากภาครัฐ เอกชนห่วงอุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ จี้คลังเร่งสร้างการลงทุน  

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงพร้อมปรับลดประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ปี 2564 

เติบโต 3.0% จากเดิม 3.2% โดยปัจจัยสำคัญมาจากการปรับลดจำนนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเหลือ 3 ล้านคน จากเดิม 5.5 ล้านคน สอดคล้องกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดจีดีพีเป็น 3.0% จำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิม 4.9 ล้านคนเหลือ 3.9 ล้านคน ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เตรียมทบทวนตัวเลขในเดือนเมษายนนี้ จากที่คาดการณ์จีดีพีจะขยายตัว 2.8% จำนวนนักท่องเที่ยว 5 ล้านคน จากเดิมคาดไว้ 8 ล้านคน

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาค ถือว่าฟื้นตัวช้า ส่วนหนึ่งมาจากไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนค่อนข้างสูงกว่า 11% ของจีดีพี จึงได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น โดยคาดว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่งหรือภายในกลางปี 2565 กว่าที่่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวเข้าสู่ระดับปกติก่อนที่จะมีโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2562 ดังนั้น การกระตุ้นยังเป็นเรื่องจำเป็นและการฟื้นฟูในระยะข้างหน้า เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเข้มแข็ง

“แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ ยังคงหดตัว แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับไตรมาส4 ปีที่แล้วจาก ผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เนื่องจากมาตรการบริหารจัดการล็อกดาวน์ไม่ได้เข้มงวดเหมือนระลอกแรก และมีมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ แต่การฟื้นตัวยังคงเปราะบาง และไม่ทั่วถึง จึงต้องการแรงสนับสนุนจากมาตการภาครัฐและการเงินต่อเนื่อง” นายทิตนันท์กล่าว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า แนวโน้มภาคส่งออกสินค้าจะเป็นตัวเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเห็นได้จากกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไปได้ แต่ยังเป็นห่วงอุปสงค์ในประเทศที่เติบโตค่อนข้างช้าและยังอ่อนแอ ขณะที่ธปท.มองภาคการบริโภคเติบโต 3.0% เท่ากับจีดีพี สะท้อนการเติบโตเฉพาะกลุ่มสินค้าไม่คงทน เพราะมีเงินช่วยเหลือจากนโยบายภาครัฐ ส่วนสินค้าขนาดใหญ่ยังฟื้นช้า รวมถึงการลงทุน หรือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังไม่กระเตื้องขึ้น 

“สิ่งที่เราเห็นคล้ายกับธปท.คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ยังไม่กลับมา จึงเห็นการปรับลดประมาณการจีดีพีลง ซึ่งธปท.ได้คงดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินแล้ว ทั้งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่จะช่วยประคองธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งต้องเร่งให้ซอฟต์โลนเข้าสู่ระบบได้เร็วที่สุด สิ่งที่กังวลคือ อาจต้องเตรียมความพร้อมทั้งมาตรการและการรับมือความไม่แน่นอนในอนาคต โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential Growth) ซึ่งเป็นโจทย์ระยะยาวของประเทศ” นายอมรเทพกล่าว

ดังนั้น กระทรวงการคลังจะเป็นความหวังดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นสร้าง
สาธารณูโภค เร่งก่อสร้างการลงทุนภาครัฐและสร้างงาน เฉพาะแจกเงินอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะยังมีความเสี่ยงเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและเติบโตต่ำกว่าศักยภาพและต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นจังหวะทำนโยบายของคลังในช่วงดอกเบี้ยต่ำโดยไม่ต้องห่วงเรื่องหนี้สาธารณะจะเพิ่ม รวมถึงเน้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ถาวร 

อย่างไรก็ตาม ซีไอเอ็มบีไทยมองว่า จีดีพีไตรมาสแรกจะติดลบ 4.1% เมื่อปรับฤดูกาลติบลบ 1.6% ซึ่งจะเป็นการติดลบไตรมาสสุดท้าย โดยมองครึ่งหลังของปีจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่น่าจะฟื้นก่อน ขณะที่ไตรมาส 2 น่าจะกลับมาขยายตัว 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนติดลบ 12.1%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร TMB Analytics ธนาคาร ทีเอ็มบีกล่าวว่า สิ่งที่เห็นสอดคล้องกับธปท.คือ นโยบายภาครัฐยังมีความจำเป็น หากจะฟื้นเศรษฐกิจต้องผลักดันการบริโภคให้เติบโตได้ ซึ่งต้องเร่งออกมาตรการเพื่อเร่งให้คนมีกำลังซื้อ โดยไม่ต้องรอลดหย่อนภาษี
โค้งปลายปี จะต้องกระตุ้นคนกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการซื้อรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ก็ยังมีมาตรการบางส่วน เช่น ลดค่าโอน ค่าจดจำนองแล้ว แต่ภาคบริการและเอสเอ็มอียังเหนื่อยอยู่ จึงอยากเห็นผู้ทำนโยบายเน้นมาตรการกระตุ้นคนมีรายได้ออกมาใช้จ่าย 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,665 วันที่ 28 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2564