เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ยุติคืนเงิน “ค่าโง่โฮปเวลล์”

25 มี.ค. 2564 | 09:40 น.

เปิดคำวินิจฉัยกลางศาลรธน. ปมนับอายุความฟ้องคดีปกครอง ส่งผลต่อการรื้อคดีจ่ายค่าโฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน ชี้ชัด มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปค.บัญญัติบทเฉพาะกาลกำหนดหลักเกณฑ์นับเวลาฟ้องคดีใช้เป็นการทั่วไปในทุกคดีเข้าข่ายเป็นระเบียบที่ต้องผ่านการตรวจสอบของสภา และประกาศราชกิจจาฯ ก่อนใช้บังคับ

25 มีนาคม 2564 เว็บไซต์สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พ.ย. 2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดีปกครองที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค. 2544 และถูกนำมาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ โดยศาลได้ระบุถึงเหตุผลที่วินิจฉัยว่า มติดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการออกระเบียบที่ต้องมีการส่งไปให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า

มูลเหตุที่นำไปสู่การมีมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เกิดจากปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดีตามคำร้องที่ 40/2544 คำร้องที่ 267/2544 และคำร้องที่ 428/2545 ที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีที่เหตุแห่งการฟ้องเกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ มาฟ้องหลังจากศาลปกครองเปิดทำการแล้ว

เมื่อพิจารณามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวแล้ว เป็นการพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดีในกรณีที่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ ซึ่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ไม่ได้บัญญัติบทเฉพาะกาลให้นับระยะเวลาฟ้องคดีในช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ จึงมีการนำปัญหาดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด โดยขอให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด กำหนดแนวทางการวินิจฉัยปัญหา ไม่ใช่เป็นเพียงการพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดี และเมื่อพิจารณาการอภิปรายของผู้เข้าร่วมประชุมในรายงานการประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าวแล้ว ไม่ได้มีการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคดีใดคดีหนึ่งของทั้ง 3 คดีเป็นการเฉพาะดังเช่นการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาคดีทั่วไปเพื่อนำไปสู่การพิจารณาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีที่มีผลเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งเฉพาะในคดีนั้น ๆ

“ยิ่งไปกว่านั้นตามคำสั่งในคดีทั้ง 3 มิได้อ้างอิงว่า เป็นคำวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไว้ในส่วนที่พิเคราะห์เพื่อชี้ขาดประเด็นแห่งคดี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครองทั่วไปที่เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหรือการดำเนินการเพื่อเป็นอย่างเดียวกันโดยประสงค์ให้การพิจารณาพิพากษาในคดีอื่นต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันนี้ด้วย

มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจึงเป็นเสมือนการบัญญัติบทเฉพาะกาลกำหนดหลักเกณฑ์การนับระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้เป็นการทั่วไปในทุกคดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองรวมทุกประเภทคดีตามมาตรา 49 มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 52 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์การนิติบัญญัติ โดยไม่ได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแต่เป็นการตรากฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองขึ้นใหม่

มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จึงไม่ใช่การวินิจฉัยคดีใดคดีหนึ่ง ที่ผลของการพิจารณาวินิจฉัยต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคดีนั้นตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการกำหนดวิธีการดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับการฟ้องตามมาตรา 44

ดังนั้น มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองจึงเป็นการออกระเบียบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44

คดีนี้แม้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านเขตอำนาจศาล แต่ก็ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 5 คือส่งให้สภาผู้แทนราษฎร์ตรวจสอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 6 ด้วย

ดังเช่นระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีปกครองที่โอนมาจากเรื่องร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2544 ที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2544 เมื่อปรากฎว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พ.ย. 2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดี มิได้ดำเนินการตามที่มาตรา 5 และมาตรา 6 ของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 กำหนดไว้ จึงเป็นการออกระเบียบที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่

อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม ที่นี่ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิดฉากมหากาพย์ "ค่าโง่โฮปเวลล์" 24,000ล้าน

ค่าโง่โฮปเวลล์ยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพผู้ใด

รื้อ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ ความหวังอยู่ที่‘ศาลรธน.’

ย้อนคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่ไม่สมควรจ่าย

เอาใจช่วย“ภาครัฐ” ลุยรื้อคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์”