องค์กรสื่อ ถก บช.น.ขอพื้นที่ปลอดภัยนักข่าวในม็อบ ปฏิเสธใช้ปลอกแขนจากตำรวจ

25 มี.ค. 2564 | 07:50 น.

องค์กรสื่อ ถก บช.น.ขอพื้นที่ปลอดภัยนักข่าวในม็อบ ปฏิเสธใช้ปลอกแขนจากตำรวจ หวั่นมีปัญหาถูกผลักไปอยู่ฝ่ายรัฐ เสนอแก้กฎหมายให้สื่อใช้เสื้อเกราะได้ในอนาคต

นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุมหารือกับ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อร่วมกันหาทางแก้ปัญหาการรายงานข่าวในการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมา

องค์กรสื่อ ถก บช.น.ขอพื้นที่ปลอดภัยนักข่าวในม็อบ ปฏิเสธใช้ปลอกแขนจากตำรวจ

นายจีรพงษ์ ระบุว่า ทางสมาคมได้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากการหารือกับสื่อมวลชนภาคสนาม กองบรรณาธิการแต่ละสำนักข่าว ที่มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล 4 ครั้ง ก่อนหน้านี้ เพื่อให้ตำรวจรับไปพิจารณา โดยได้สะท้อนความรู้สึกตัวแทนนักข่าวภาคสนามที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง และขอพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสื่อมวลชนในการรายงานข่าว ให้สื่อมวลชนได้ทำข่าวอย่างอิสระ ทำความเข้าใจกับตำรวจเกี่ยวกับการใช้สัญลักษณ์ปลอกแขนของสื่อมวลชนในการทำข่าวการชุมนุม ซึ่งใช้มาตั้งแต่เหตุ 19 กันยายน

โดยการมาพบเพื่อย้ำอีกครั้งว่า สื่อมวลชนขอใช้ปลอกแขนที่ออกโดยองค์กรสื่อ และปฎิเสธที่จะใช้ปลอกแขนของตำรวจที่กำลังทำ โดยสะท้อนว่าการใช้สัญลักษณ์ปลอกแขนของตำรวจ จะเป็นการผลักให้สื่อมวลชนไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล และจะมีปัญหาเมื่อลงพื้นที่ทำข่าวโดยได้สะท้อนอย่างตรงไปตรงมาและปฎิเสธข้อเสนอนี้ไป จากการหารือที่ตกผลึกแล้วคือการใช้ปลอกแขนที่ออกโดยองค์กรสื่อ

องค์กรสื่อ ถก บช.น.ขอพื้นที่ปลอดภัยนักข่าวในม็อบ ปฏิเสธใช้ปลอกแขนจากตำรวจ

ส่วนจะมีการปรับรูปแบบเพื่อให้ตรวจสอบได้ หรือเห็นได้ชัดง่ายขึ้น จะได้มีการหารือร่วมกันทั้งผู้สื่อข่าวภาคสนามและกองบรรณาธิการข่าวต่างๆว่าจะทำรูปแบบไหน เพื่อให้เห็นชัดและมีแนวปฎิบัติที่ตรงกัน ไม่ใช่ใส่ปลอกแขนแล้วจะไปทำผิดกฎหมายอะไรก็ได้ ซึ่งสมาคมนักข่าวฯได้ย้ำตลอดว่าปลอกแขนเป็นสัญลักษณ์บอกฝ่าย เพื่อให้ตำรวจหรือผู้ชุมนุมแยกแยะออกได้ว่านี่คือสื่อมวลชน และประเด็นสุดท้าย คือเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถใช้ยุทธภัณฑ์บางอย่าง อาทิ เสื้อเกราะได้ เพื่อความปลอดภัยระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

องค์กรสื่อ ถก บช.น.ขอพื้นที่ปลอดภัยนักข่าวในม็อบ ปฏิเสธใช้ปลอกแขนจากตำรวจ  

ขณะเดียวกันทางตำรวจก็มีการเสนอข้อมูล และสะท้อนปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เช่น กรณีที่มีสื่อทางเลือก เช่น ยูทูปเบอร์ หรือผู้ที่ใช้การไลฟ์สด ในการถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ เรื่องนี้ก็มีการยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่ใช่กลุ่มคนที่ได้รับการรับรองโดยสมาคมอยู่แล้ว ดังนั้นสามารถแยกแยะได้ด้วยสัญลักษณ์ปลอกแขน แต่อย่างไรก็ตามก็ขอให้คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของแต่ละบุคคลด้วย 

ทั้งนี้ ในการประชุมหารือ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยังได้กล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

6องค์กรวิชาชีพสื่อฯแถลงการณ์ร่วม หลังสลายการชุมนุมREDEM

สลายชุมนุม “ม็อบ 20 มีนา” เจ้าหน้าที่-ปชช.บาดเจ็บ 19 ราย

ภาพชุดตำรวจสลายการชุมนุม"ม็อบ20มีนา"