‘รัฐสภา’ แก้รธน.ได้ ประชามติ 2 รอบ ส่อตีตกวาระ 3

12 มี.ค. 2564 | 07:05 น.

ศาลรธน.เสียงข้างมากชี้ “รัฐสภา” มีหน้าที่และอํานาจจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ให้ผ่านการทำประชามติ 2 รอบ “ไพบูลย์” งงคำวินิจฉัย เชื่อโหวตวาระ 3 ไม่ได้ เล็งโหวตตก

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) 

ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจําปี ครั้งที่สอง) วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 พิจารณาญัตติด่วนกรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย 

 

แก้รธน.ประชามติก่อน

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอํานาจจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

วันเดียวกัน นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ส่งหนังสือแจ้งถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เนื้อหาระบุว่า 

ตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และศาลรัฐธรรมนูญ สั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ รัฐสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวาระแรกและวาระสองแล้ว และกำลังจะมีการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ  เพื่อลงมติในวาระสาม ในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้

 

รัฐสภาส่อตีตกวาระ 3

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กล่าวว่า ตนยังงงในคำวินิจฉัยดังกล่าว และเชื่อว่าในวันที่ 17 มีนาคม ที่มีการประชุมรัฐสภา ที่ประชุมต้องถกเถียงในความหมายดังกล่าว ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่ารัฐสภาไม่สามารถลงมติได้

ส่วนที่คำวินิจฉัยดังกล่าวเข้าข่ายก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองค์กร และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญระบุให้ทำประชามติก่อน วันที่ 17 มีนาคม ต้องคุยในรัฐสภา เพื่อถามว่าจะตีความอย่างไร ดีไม่ดีอาจจะโหวตตกก่อน

 

‘รัฐสภา’ แก้รธน.ได้ ประชามติ 2 รอบ ส่อตีตกวาระ 3

 

 

เชื่อ“รัฐสภา”ป่วนแน่

สำหรับท่าทีของฝ่ายค้านนั้น นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ทราบผลคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งยังไม่ชัดเจน เพราะทำให้เกิดการตีความได้หลายทางว่า การทำประชา มติก่อนและหลังแก้รัฐธรรมนูญ จะเริ่มจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 หรือหลังจากมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) แล้ว 

แต่ส่วนตัวคิดว่า การประชุมรัฐสภาในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ น่าจะเดินหน้าลงมติในวาระสามได้ แต่เชื่อว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งจะทำให้การประชุมไม่ราบรื่น เป็นภาระของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ต้องวินิจฉัย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดจะยอมรับการใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภาหรือไม่ ทั้งนี้ฝ่ายค้านจะมีการหารือกันในวันที่ 15 มีนาคมนี้

 

“ชวน”ลุยโหวตวาระ 3

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ขณะนี้ความเห็นก็ยังไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่นัก ยังคงตีความกันอยู่ ดังนั้น จึงต้องรอรายละเอียดของคำวินิจฉัยก่อน ส่วนการโหวตแก้รัฐธรรมนูญในวาระสามนั้น นายชวน กล่าวว่า ตนได้สั่งบรรจุระเบียบวาระก่อนที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมา และที่โหวตวาระสอง ไปแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร

“ส่วนวาระสาม ที่จะโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า โหวตผ่านวาระสอง แล้วให้ทิ้งเวลา 15 วัน แล้วจึงโหวตวาระสาม ซึ่งขณะนี้วาระสาม ได้พ้น 15 วันไปแล้ว” 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,661 หน้า 12 วันที่ 14 - 17 มีนาคม 2564