“เทศบาล” แห่ซื้อวัคซีนโควิด สร้างคะแนนนิยม

15 มกราคม 2564

 

 

การเลือกตั้งเทศบาล นายกเทศมนตรี มีความชัดเจนจากรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไฟเขียวให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเลือกตั้งได้ ตามที่กระทรวงมหาดไทย และ กกต.เสนอ

ขณะที่ กกต.ก็เตรียมจะออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ในวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. 2564 ก่อนที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเทศบาลโดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จะออกประกาศ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี ในวันอาทิตย์ที่ 28 มี.ค. 2564 และวันรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ 8-12 ก.พ. 2564  

ท่ามกลางกำลังจะมีการ “เลือกตั้งเทศบาล” ผู้บริหารเทศบาล นายกเทศมนตรีเทศบาล ทั้งผู้บริหารคนปัจจุบัน และผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อท้าชิงตำแหน่ง ต่างดาหน้าออกมาแสดงจุดยืนและความพร้อมในการตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนในเขตพื้นที่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.)​ หลายพื้นที่เตรียมตั้งงบจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนเอง ว่า ถือเป็นโอกาสที่ทำได้ ตนเปิดโอกาสให้สามารถนำเข้าวัคซีนมาได้ หากจะใช้เงินท้องถิ่นก็ถือเป็นสิทธิและเป็นเรื่องของสภาท้องถิ่นจะจัดซื้อ หากท้องถิ่นนำเข้ามา และผ่านมาตรฐานของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะต้องระมัดระวัง​ที่สุด เนื่องจากมีผลข้างเคียง

 

ท้องถิ่นแห่ตั้งงบซื้อวัคซีน

สำหรับความเคลื่อนไหวของหน่วยงานท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่เตรียมทุ่มงบประมาณในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนด้วยตัวเองนั้น 

ภาคเหนือ: เทศบางเมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน งบ 10 ล้านบาท โดย นายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนมีการเตรียม ความพร้อมที่จะขออนุมัติใช้งบประมาณจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดให้กับประชาชนในเขตเทศบาลกว่า 7,000 คน จากเงินสะสมอยู่ที่สามารถนำมาใช้ได้ คาดว่าราคาโดส ละ 500 บาท คนละ 2 โดส หรือรวมเฉลี่ยคนละ 1,000 บาท 

ภาคกลาง: เทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี งบ 260 ล้านบาท นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ได้เตรียมทุ่มจัดซื้อวัคซีนให้กับประชาชน ในพื้นที่ประมาณ 260,000 คน ซึ่งต้องใช้วัคซีนประมาณ 520,000 โดส ส่วนเทศบาลนครปากเกร็ด เตรียมงบ 240 ล้านบาท เพื่อประชาชน 190,000 คน 

เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา งบ  80 ล้านบาท เพื่อประชาชน 60,000 คน 

ภาคตะวันออก: เทศบาลนครแหลมฉบัง จ.ชลบุรี งบ 80 ล้านบาท สำหรับประชาชน 80,000 คน โดยประชากร 1 คน ต้องใช้วัคซีน 2 โดส คิดเป็นเงิน 1,000 บาท

เทศบาลนครระยอง งบ 65 ล้านบาท นายวรวิทย์ ศุภโชคชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครระยอง กล่าว ได้ปรึกษากับเทศบาลเมืองมาบตาพุด เทศบาลตำบลเชิงเนิน และเทศบาลตำบลบ้านเพ ว่ามีความพร้อมที่จะสามารถซื้อวัคซีนโควิดมาฉีดให้กับประชากร 65,000 คน คนละ 2 โดส ในราคาโดสละ 500 บาท หรือเท่ากับ 1,000 บาทต่อคน 

ภาคตะวันตก: เทศบาลเมืองราชบุรี จ.ราชบุรี งบ 200 ล้านบาท โดยเทศบาลเมืองราชบุรี ชี้แจงว่า ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้ เตรียมซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้ประชาชน ทั้งนี้รอเพียงไฟเขียวจากรัฐบาล    

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น งบ 110 ล้านบาท นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า เทศบาลนครขอนแก่นมีการหารือจะใช้เงินสะสมของเทศบาลนครขอนแก่นจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้ประขาชนในพื้นที่จำนวน 1.1 แสนคน 

เทศบาลเมืองยโสธร จ.ยโสธร งบกว่า 20 ล้านบาท เพื่อประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งมีประมาณ 20,000 กว่าคน 

เทศบาลเมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ งบ 40 ล้านบาท ฉีดให้กับประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่อาศัยในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ กว่า 40,000 คน 

 

 

 

 

ภาคใต้: เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี งบ 130 ล้านบาท เพื่อฉีดให้กับประชาชนในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีทันที หากรัฐบาลไฟเขียวให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้

เทศบาลนครยะลา จ.ยะลา งบ 100 ล้านบาท สำหรับประชากรประมาณ 70,000 คน ตามทะเบียน ก็อาจจะต้องใช้งบประมาณ ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของเงินสะสมของเทศบาลนครยะลา ขณะนี้ ก็มีเพียงพอในการจัดหาวัคซีน

 

 

“เทศบาล” แห่ซื้อวัคซีนโควิด สร้างคะแนนนิยม

 

 

ชงใช้งบกทม. 8 พันล้าน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม และว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ได้ออกมาเสนอการใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่สามารถนำเงินท้องถิ่นมาซื้อวัคซีนฉีดให้กับคนกรุงเทพฯ กว่า 8 ล้านคน ว่า ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพ มหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 89 กำหนดให้กรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ในการดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องต่างๆ รวม 27 เรื่อง โดยรวมถึงข้อ (16) การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและการพยาบาล

“ปี 2563 กทม.ประมาณการรายได้ไว้ที่ 83,000 ล้านบาท และเมื่อดูจากสถานะการเงินในรายงานของสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2562 กทม. มีเงินสะสมปลอดภาระผูกพันสูงถึง 53,568 ล้านบาท (จริงๆ แล้วก็คือเงินภาษีที่เก็บมาจากประชาชนที่ยังไม่ได้ใช้)

กทม. มีประชากรตามทะเบียนประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน ถ้ารวมคนที่เข้ามาทำงานด้วยอีกประมาณสองล้านกว่าคน รวมแล้ว 8 ล้านคน ถ้าเราจะฉีดวัคซีนโควิดให้ ทุกคน คนละ 2 โดส ที่ราคา 1,000 บาทต่อคน จะใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่ง กทม.มีเงินสะสมมากพอที่จะรับภาระแทนประชาชนได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และผู้บริหารท้องถิ่นต่างๆ ได้รับการท้วงติงจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้ออกมาระบุว่า ขอฝากความหวังดีไปยังคุณชัชชาติ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมทั้งพ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกคนว่า เราต้องอย่าหลงลืมทวงบทบาทหน้าที่สำคัญของรัฐบาลในวิกฤติิครั้งนี้ อย่าปล่อยให้รอดจากความรับผิดชอบหลักของตัวเองไปได้ 

เรื่อง “งบประมาณ” ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องจัดหาวัคซีนมีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอให้ประชาชนทุกคน เราเองต้องไม่ปล่อยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควักเงินจ่ายกันเอง เอื้อให้รัฐบาลสร้างระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เช่นนี้

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “ท้องถิ่น” ชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของผู้บริหารท้องถิ่น มีขึ้นเพื่อ “สร้างคะแนนนิยม” ให้กับตัวเอง เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งเทศบาล และประเภทอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตนั่นเอง... 

 

 

 

 

‘ท้องถิ่น’ซื้อวัคซีนเอง

เพิ่มความเหลื่อมลํ้า

 

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเสนอแนะรัฐบาลต่อกรณีท้องถิ่นเตรียมงบจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ว่า รัฐบาลควรออกมาให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า สามารถจัดซื้อวัคซีน เพื่อฉีดบริการให้กับประชาชนฟรี โดยไม่คิดมูลค่าตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้ เป็นต้นไป 

ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ผู้บริหารท้องถิ่นหลายแห่ง ได้แสดงความพร้อมในการตั้งงบประมาณจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งมีทั้งผู้บริหารคนปัจจุบัน และผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้งท้าชิง ต่างแสดงจุดยืนและความพร้อมในการตั้งงบประมาณจัดซื้อวัคซีน ทำให้เกิดภาพการแข่งกันจัดซื้อวัคซีน เพื่อให้บริการให้กับประชาชน ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมลํ้าระหว่างอปท.ที่มีความพร้อมในด้านงบประมาณที่แตกต่างกัน จะนำไปสู่ความเหลื่อมลํ้าของประชาชนที่จะได้รับวัคซีนในพื้นที่ของแต่ละ อปท.ด้วย เพราะแต่ละแห่งมีศักยภาพด้านงบประมาณที่ไม่เท่ากัน

“เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สำคัญต่อประชาชนคนไทยทุกคน รัฐบาลควรจะมีแนวทาง มาตรการ และระเบียบที่ชัดเจน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกัน เช่น องค์กรระดับเทศบาลสามารถจัดซื้อวัคซีนได้หรือไม่ จะใช้งบประมาณส่วนไหนในการจัดซื้อ จะมีวิธีการจัดซื้ออย่างไร รัฐบาลจะอุดหนุน อปท.ในด้านใดหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมลํ้า หรือการแย่งกันซื้อ ชิงกันสร้างผลงาน สร้างภาพเพื่อหวังผลคะแนนนิยมในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง มากกว่าสุขภาพของประชาชน” นายเทพไท กล่าว 

 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,645 หน้า 12 วันที่ 17 - 20 มกราคม 2564