นายกฯรับทราบ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ

29 พ.ย. 2563 | 04:40 น.

โฆษกฯเผย นายกฯ รับทราบ S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในระดับมีเสถียรภาพ มั่นใจเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว 1-2 ปีข้างหน้า

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานที่ บริษัท S&P Global Ratings (S&P) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เนื่องจากประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ภาคการคลังและภาคการเงินต่างประเทศอยู่ในระดับสูง


 นอกจากนี้ หนี้รัฐบาลอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล และสถานการณ์ ทางการเมืองปัจจุบันไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วง 1 – 2 ปี ข้างหน้า

 

ส่วนภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง เป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ แม้ว่าการดำเนินนโยบายการคลังผ่านมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะทำให้การขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 – 2564 และหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ยังคงไม่ส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางการคลัง 

 

โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะจำนวนทั้งสิ้น 7.8 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับร้อยละ 49.34 ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 และเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด
 

ทั้งนี้ S&P เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโตในระยะปานกลางได้ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น เป็นผลจากการภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ 

 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อีกทั้งรัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง  และยังส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Public Private Partnership) เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ


  
นอกจากนี้ ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสภาพคล่องและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง โดย S&P คาดว่าสภาพคล่องต่างประเทศ (External liquidity) ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับคงที่และไม่น่ากังวล นอกจากนั้น การดำเนินนโยบายทางการเงินและการรักษาเสถียรภาพด้านราคาเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยสนับสนุนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอีกด้วย

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า  ประเด็นที่ S&P ให้ความสนใจและติดตามอย่างใก้ลชิดคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง และเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต

 

ส่วนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระยะถัดไปรัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้รักษาระดับการจ้างงานภายในประเทศ และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและมีความยั่งยืนต่อไป 


ตามแนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” หรือ Resilience ของรัฐบาล ที่ได้กำหนดเป้าหมาย เพื่อให้คนไทยสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น มุ่งให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ผ่านมาตรการต่างๆของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง