ม.หอการค้าชี้มาตรการรัฐ กระตุ้นจีดีพี Q 4 ขยายตัว0.7-1%

12 พ.ย. 2563 | 08:38 น.

หอการค้าไทย ประเมินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ เงินสะพัดแสนล้าน ดึงจีดีพี ไตรมาส 4 ขยายตัว 0.7-1% มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นไตรมาส 2 ปี 64  ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต.ค.ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 50.9 

นายธนวรรธ์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบันว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาลทั้งโครงการชอป ดีมีคืน  ,คนละครึ่ง ถือเป็นนโยบายที่ที่ดีตอบโจทย์และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4 ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเป็นเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่งราว 60,000 ล้านบาท และชอปดีมีคืน 30,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ขยายตัวได้ 0.7% ถึง 1% ทำให้ทั้งปีเศรษฐกิจขยายตัวที่ลบ 7%-7.5% ปรับตัวดีขึ้นจากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ลบ7.8%

ม.หอการค้าชี้มาตรการรัฐ  กระตุ้นจีดีพี Q 4 ขยายตัว0.7-1%

 

  ทั้งนี้ หากมีการต่อโครงการคนละครึ่งระยะที่ 2 เชื่อว่า จะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายท้องถิ่นได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท ส่วนการรับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกให้ค่อยๆปรับตัวดีขึ้น         

 

 

    อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 และฟื้นตัวได้ในปี 2564 แต่จะมีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ และเศรษฐกิจปี 2564 อีกครั้งในเดือนธ.ค.เพื่อเป็นการส่งสัญญาณหลังรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆไปแล้ว

 

 นอกจากนี้หอการค้ายังได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. 2563 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.2 มาอยู่ที่ระดับ 50.9 สะท้อนความมั่นใจของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ติดลบ 7.7% หดตัวน้อยลงเพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในอนาคต

 

 

แต่อย่างไรก็ตามแม้ดัชนีจะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ระดับ 100 เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งสู่ระดับ 43.9 จากระดับ 42.9 ในเดือนก.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำโดยรวม 49.0 จากระดับ 48.2 ในเดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต  59.9 จากระดับ 59.4 ในเดือนก.ย. โดยปรับตัวขึ้นทุกรายการ แต่การที่ดัชนียังคงต่ำกว่า 100 อย่างมากแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากมีความกังวลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและไทยเนื่องจากการระบาดของโควิด-19  และโดยเฉพาะดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวต่ำสุดในรอบ 170 เดือน หรือ 14 ปี 2 เดือนนับแต่เดือนก.ย. 2549 คือลดลงมาอยู่ที่ระดับ 24.7 จากเดือนก.ย. ที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 29.3  สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 , ค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่า และ สหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษี(จีเอสพี)  สินค้าไทย 231 รายการ