ซีอีโอ "นกแอร์" เปิดใจแผนฟื้นฟูกิจการ ยันไม่ลดพนักงาน

03 พ.ย. 2563 | 20:00 น.

เปิดใจ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” มั่นใจนกแอร์ ได้ทำแผนฟื้นฟู เผยหลังศาลมีมติ จะใช้เวลาราว 3 เดือนทำรายละเอียด ยื่นศาลเห็นชอบ เผย 3 กรอบฟื้นธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้-หาผู้ร่วมทุน ขยายบินระยะกลาง ขยายช่องทางขายผ่านบริษัท ที่กลุ่มจุฬางกูร ถือหุ้นใหญ่อยู่ ยันไม่มีแผนปรับลดพนักงาน

        การนัดฟังคำสั่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ของศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 นกแอร์ มีความมั่นใจว่าจะได้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ และนับจากวันดังกล่าว จะใช้เวลาราว 3 เดือน จัดทำรายละเอียดของแผนฟื้นฟู เพื่อยื่นต่อศาลฯขอความเห็นชอบและอนุมัติให้บริหารแผนฟื้นฟูต่อไป
       นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสายการบิน นกแอร์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เรามั่นใจว่าการนัดฟังคำสั่งของศาลล้มละลายกลางในวันที่ 4 พฤศจิกายน2563 มีแนวโน้มที่ดีที่นกแอร์จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และได้รับการอนุมัติผู้ทำแผนฟื้นฟูตามที่นกแอร์เสนอ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารนกแอร์ 5 คน ได้แก่ นายปริญญา ไววัฒนา ,นายไต้ ชอง อี, นายเกษมสันต์ วีระกุล,นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ,นายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัทฯ  และบริษัทแกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ๊ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด
      เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้านคำร้องของนกแอร์ และ ศาลล้มละลายกลาง ได้มีมติงดการไต่สวนตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/10 ไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ประกอบกับหลักเกณฑ์ต่างๆในการยื่นฟื้นฟูกิจการก็เป็นในแนวทางที่ศาลจะพิจารณา ไม่ว่าจะเป็น การมี หนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งนกแอร์มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ราว 2,800 ล้านบาท การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยสุจริต และคุณสมบัติของผู้ทำแผน
     อย่างไรก็ตามหากศาลพิพาษาให้นกแอร์ ทำแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือน หรือในราวเดือนกุมภาพันธ์2564  เพื่อจัดทำรายละเอียดแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จ จากนั้นจึงจะเสนอศาล เพื่อขออนุมัติและบริหารแผนฟื้นฟูต่อไป

ซีอีโอ "นกแอร์" เปิดใจแผนฟื้นฟูกิจการ ยันไม่ลดพนักงาน
        ณ ไตรมาส2 ปี2563  นกแอร์ มีสินทรัพย์อยู่ที่ 22,700ล้านบาท มีภาระหนี้สิน 25,500ล้านบาท จากจำนวนเจ้าหนี้ 400-500ราย โดยในจำนวนนี้มีเจ้าหนี้รายใหญ่ อยู่จำนวน 11 ราย แบ่งเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ยืม จาก  “หทัยรัตน์ จุฬางกูร” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 2.7 พันล้านบาท และเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินในต่างประเทศ 10 ราย ส่วนใหญ่ต่างให้การสนับสนุนนกแอร์ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

       โดยจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน2563 นกแอร์มีหนี้ค่าเช่าเครื่องบินอยู่ที่ราว 1,700 ล้านบาท แต่ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS16 จะต้องมีการบันทึกค่าเช่าเครื่องบินล่วงหน้าจนจบสัญญาเช่าไว้ด้วย ซึ่งสัญญาเช่าก็มีทั้งที่จะหมดอายุสัญญาในปีนี้ และบางลำก็จะครบในอีก 7 ปีข้างหน้า ทำให้นกแอร์ ต้องบันทึกค่าเช่าล่วงหน้าไว้ ซึ่งก็อยู่ในหลักหมื่นล้านบาท
        ขณะนี้นกแอร์ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องของกระแสเงินสด เพราะมีการเจรจากับเจ้าหนี้ไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการชลอการจ่ายค่าเช่า การเจรจาลดดอกเบี้ย การขยายเวลาชำระดอกเบี้ย
       ประกอบกับนกแอร์ สามารถใช้เครื่องบินเพื่อทำการบินในประเทศได้ครบหมด 22 ลำแล้ว ตามดีมานต์ผู้โดยสารที่ขยับขึ้นมา โดยมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 70% แม้จะความถี่ยังไม่กลับมาเท่ากับก่อนเกิดโควิด แต่ก็ถือว่านกแอร์บาดเจ็บน้อยกว่าสายอื่น การทำการบินแล้วกว่า 20 จุดบินในไทย ก็ทำให้สายการบินมีกระแสเงินสดเข้ามามากขึ้น หากเทียบกับช่วงล็อกดาวน์ประเทศก่อนหน้านี้

วุฒิภูมิ จุฬางกูร
        ซีอีโอนกแอร์ ยังกล่าวต่อว่าสำหรับกรอบการฟื้นฟูกิจการที่นกแอร์ เสนอให้ศาลฯ เพื่อประกอบการพิจารณา จะเน้น 3 ช่องทางฟื้นฟูกิจการ ได้แก่

       1. การปรับโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างทุน เช่น การจัดสรรแหล่งเงินเพิ่มเติม การหาพันธมิตรธุรกิจหรือเพิ่มทุน วางแผนระยะยาว ในการหาผู้ร่วมลงทุน เพื่อนำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ และชำระหนี้

       2. การบริหารจัดการกิจการของนกแอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน ปรับฝูงบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เพิ่มความถี่ในเที่ยวบินที่มีดีมานต์ในการเดินทางและลดความถี่ในเที่ยวบินที่มีความต้องการในการเดินทางไม่มาก  การเพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำ

        รวมถึงการปรับปรุงกลยุทธด้านการพาณิชย์ เช่น การหารายได้ ในช่องทางใหม่ๆเพิ่มขึ้น อย่างการสร้างรายได้จากการขนส่งสินค้า(คาร์โก้)ในเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น การหารายได้ในรูปแบบใหม่ร่วมกับพันธมิตร โดยการทำ Commission Base Service ในลักษณะการขายตั๋วเครื่องบินรวมกับโรงแรมหรือรถเช่า การเพิ่มโอกาสในการขายบัตรโดยสาร โดยปรับปรุงแอพพลิเคชั่นในการจองให้ตอบโจทย์ลูกค้า เพราะลูกค้าบางรายก็อาจจะใช้มือถือในการจองตั๋วไม่เป็น การปรับปรุงระบบปัญญาประดิษฐ์(AI)โดยใช้บิ๊กดาต้าในการทำตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้

        การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายตั๋วโดยสาร การจัดกิจกรรมกระตุ้นการขายต่างๆ ผ่านบริษัทต่างๆที่ กลุ่มจุฬางกูร ถือหุ้นใหญ่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือซีเอ็ด ที่มีอยู่ 350 สาขา บริษัทซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน)หรือASAP ซึ่งเป็นธุรกิจรถเช่า ธุรกิจในเครือซัมมิท อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม สนามกอล์ฟก็จะขยายให้สามารถจำหน่ายตั๋วเครื่องบินนกแอร์ให้มากขึ้น บริษัทบีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็หารือถึงการจัดกิจกรรมร่วมกับดารา เพื่อผลักดันยอดขายตั๋ว  และการเจาะลูกค้ากลุ่มข้าราชการ โดยใช้จุดเด่นที่นกแอร์มีเก้าอี้ที่ใหญ่กว่าสายการบินอื่น             

         3.การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ซึ่งนกแอร์จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานเป็นหลัก นำระบบไอทีมาใช้เพื่อลดขั้นตอนลดต้นทุน เช่น การลดการใช้กระดาษให้น้อยลง การควบคุมรายได้-ค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับกระแสเงินสด การปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

         “ตามกรอบแผนฟื้นฟูกิจการนกแอร์จะไม่มีการลดพนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 1,517 คน  แต่มีแผนจะเพิ่มจำนวนนักบินและลูกเรือเพิ่มขึ้น เนื่องจากนกแอร์มีแผนจะนำเครื่องบินเข้ามาดำเนินธุรกิจเพิ่ม ”

        เพราะนกแอร์ มีแผนจะขยายเส้นทางบินไปยังจุดบินจากให้บริการเที่ยวบินระยะใกล้ในต่างประเทศ ขยายเพิ่มไปสู่เที่ยวบินระยะกลาง เพื่อให้บริการเที่ยวบินไปญี่ปุ่น เหมือนที่สายการบินนกสกู๊ต ที่นกแอร์เคยเข้าไปร่วมลงทุนก่อนหน้านี้ เคยทำการบินอยู่ เมื่อสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย หลังจากมีวัคซีนเกิดขึ้น

       นอกจากนี้นกแอร์ จะมีความร่วมมือกับการบินไทยด้วย โดยการซ่อมบำรุงเครื่องบิน จากเดิมที่นกแอร์ จะต้องไปที่ต่างประเทศ ต่อไปก็จะใช้บริการของการบินไทย และหารือร่วมกับการบินไทยและไทยสมายล์ ในการวางตารางเที่ยวบิน ไม่ให้ทับซ้อนกัน เพื่อไม่แข่งขันกันเอง

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่3,624 วันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว"นกแอร์"ฟื้นฟูกิจการ
"นกแอร์ "ฉลุยศาลฯงดไต่สวน หลังไร้ผู้คัดค้านฟื้นฟูกิจการ สางหนี้2.5หมื่นล้าน
‘นกแอร์’ วิบากกรรม ‘จุฬางกูร’ ถม 1.5 หมื่นล.ยังเอาไม่อยู่ 
“นกแอร์” ทวงหนี้ ส.ส.-อดีต ส.ส. ค้างค่าตั๋วเครื่องบินกว่า 3.5 ล้าน
สายการบินดิ้น บี้ลดต้นทุนเพิ่ม ‘จุฬางกูร’ ยันไม่ทิ้ง นกแอร์
นกแอร์ ยันยังบินปกติ แจง 5 ประเด็น ยื่น ฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง
ศาลล้มละลายกลาง รับฟื้นฟู นกเเอร์ ติดหนี้ 2.6หมื่นล้านบาท​​​​​​​