ค่ายญี่ปุ่นขยับแผน "รถจักรยานยนต์ EV" สลับแบตเตอรี่เอื้อทุกยี่ห้อ

05 ต.ค. 2563 | 09:55 น.

"รถจักรยานยนต์ EV" พลังงานไฟฟ้ามาแน่ “บีโอไอ” เล็งเคาะแผนส่งเสริมการลงทุนรอบใหม่ ค่ายญี่ปุ่นเริ่มขยับ พัฒนารถที่ใช้แบตเตอรี่ร่วมกัน และมีสถานีให้สลับแบตเตอรี่ลูกใหม่ ไม่ต้องเสียเวลาชาร์จไฟ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยชี้ การสว้อปแบตเตอรี่จะทำให้รถจักรยานยนต์ EV แจ้งเกิด ด้วยราคาที่ไม่สูงมาก

ขณะที่แผนส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามวางแผนงานสนับสนุนให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้ง การผลิต การลงทุน การส่งเสริมให้เกิดการใช้

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าตามนิยามของรัฐบาสไทย ครอบคลุมตั้งแต่ไฮบริด (โตโยต้า เป็นผู้เล่นรายใหญ่) ปลั๊ก-อินไฮบริด (นำโดย เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู, มิตซูบิชิ,เอ็มจี เป็นต้น) และ อีวี (หรือ BEV) ที่จ่อขึ้นไลน์ผลิตทั้ง เอ็มจี และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่รวมค่ายเล็กๆที่ตั้งโรงงานผลิตในไทยแล้ว รวมถึงแบรนด์รถยนต์หรูอื่นๆ ที่เน้นนำเข้ามาทำตลาด

ในส่วนรถจักรยานยนต์ เริ่มขยับขับเคลื่อนเช่นกัน แม้จะเริ่มต้นช้าเพราะรัฐบาลพยายามส่งเสริมในภาพใหญ่ของรถยนต์ก่อน ที่สำคัญรถจักรยานยนต์ทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้ประหยัดนํ้ามันมากอยู่แล้ว ดังนั้นการกระตุ้นให้คนหันมาใช้ รถจักรยานยนต์ EV อาจทำได้ยากกว่ารถยนต์ ที่สำคัญราคาสูง และเสียเวลาชาร์จ แต่มีข้อดีคือลดการปล่อยไอเสีย

ค่ายญี่ปุ่นขยับแผน "รถจักรยานยนต์ EV" สลับแบตเตอรี่เอื้อทุกยี่ห้อ

ล่าสุด คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เตรียมพิจารณาแผนรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า100% แล้ว ตามคำยืนยันของรองเลขาธิการ บีโอไอ “โชคดี แก้วแสง”

“เราเตรียมนำเสนอบอร์ดใหญ่บีโอไอ เพื่อออกแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่ ที่จะครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ EV รถสามล้อ รถบัส และสถานีชาร์จไฟฟ้า” นายโชคดี กล่าว

ด้านนายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า ความคืบหน้าเกี่ยวกับการส่งเสริมการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ในขณะนี้ทางบีโอไอ กำลังพิจารณาเงื่อนไขต่างๆแต่คาดว่าจะมีรูปแบบคล้ายกับการส่งเสริมโครงการยานยนต์ไฟฟ้า ในส่วนบทบาทหน้าที่ของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ได้เข้าพบ ดร.ประเสริฐ สินสุข ประเสริฐ รองปลัดกระทรวงพลังงาน หารือเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท อีลอน มอเตอร์ จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ จำกัด บริษัท ต้าถุง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอดิสัน มอเตอร์ จำกัด บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด บริษัท โตโยตรอน มอเตอร์ จำกัด บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด และบริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด

พร้อมกันนี้ ได้หารือในเบื้องต้น ถึงการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาหาแนวทางในการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบถอดเปลี่ยนได้ (Swapping)สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ยินดีให้ความร่วมมือกับแนวคิดดังกล่าว

“โอกาสของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่เติบโตเยอะมาก ยิ่งการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการสว้อปแบตเตอรี่ โดยไม่ได้จำกัดยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง กล่าวคือรถค่ายไหนก็สามารถมาสลับแบตเตอรี่ได้ ซึ่งตรง นี้จะมีผลทำให้ราคารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไม่สูง”นายกฤษฎากล่าวสรุป

ประเด็นรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า มีการประเมินว่าจะได้รับความสนในจากผู้ประกอบการจีน และไทย ในส่วนค่ายญี่ปุ่นที่ถือเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน โดยครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยมากกว่า 95% เริ่มส่งสัญญาณในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ออกมาบ้างแล้ว

“ที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนแต่รถยนต์ไฟฟ้า ยังไม่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งทุกค่ายมีเทคโนโลยีพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่รอการส่งเสริมเพิ่มเติม และความพร้อมของตลาด” แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นรายใหญ่กล่าว

ทั้งนี้ นโยบายระดับโลกของ บิ๊กโฟร์บริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ญี่ปุ่น ได้แก่ ฮอนด้า ยามาฮ่า คาวาซากิ ซูซูกิ เริ่มทำโครงการ EV ด้วยกัน ล่าสุดนำรถให้บุคลากร และนักศึกษา มหาวิทยาลัยโอซากา ได้ลองใช้และมีสถานี (ร้านค้า) รับสลับแบตเตอรี่ลูกใหม่ แทนการตั้งสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่รถ พร้อมเก็บข้อมูลเพื่อนำมาศึกษา หวังใช้ในเชิงพาณิชย์ต่อไปโดยความร่วมของ 4 บริษัท นี้ เริ่มประกาศตั้งแต่ปี 2562 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,615 วันที่ 4 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563