เตือน 6 จังหวัด ระวังน้ำป่า- ดินโคลนถล่ม  2-5 ต.ค.

30 ก.ย. 2563 | 08:35 น.

กอนช. เตือน 6 จังหวัด ระวังฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนัก วันที่ 2-5 ต.ค. เสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินโคลนถล่ม จากอิทธิพลร่องมรสุม ปะทะมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน จับตา 24 ชม.พร้อมอพยพคน

สำเริง แสงภู่วงค์

 

นายสำเริง แสงภู่วงค์  รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เรื่อง  เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม  ฉบับที่ 8/2563 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 2-5 ตุลาคม 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง นั้น

 

แผนที่ฝน ONEMAP

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนคาดการณ์ จากแผนที่ฝน ONEMAP และข้อมูลพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรธรณี พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ บริเวณภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 2-5 ตุลาคม 2563 ดังนี้ 1. เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากน้ำท่วมขังและดินถล่ม จังหวัดปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และ ตราด  และ 2 เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ90  ประกอบด้วย  อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2  แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง  และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 10 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองวังบอน จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำทับลาน อ่างเก็บน้ำคลองไม้ปล้อง จังหวัดปราจีนบุรี อ่างเก็บน้ำศาลทราย จังหวัดจันทบุรี อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จังหวัดระยอง รวมถึงอ่างเก็บน้ำเขาระกำ อ่างเก็บน้ำบ้านมะนาว อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน และอ่างเก็บน้ำวังปลาหมอ จังหวัดตราด

 

 

ทั้งนี้ทาง กอนช. จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ ติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง หรือพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังซ้ำซากและมีสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ  พร้อมกับประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพ ได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์ ทั้งนี้ให้ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการบริหารน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ90  หรือเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) เพื่อมิให้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำรวมทั้งเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อเป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก และ เตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุรับมืออุทกภัย บุคลากร และเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อบูรณาการ ให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

 

         

เตือน 6 จังหวัด ระวังน้ำป่า- ดินโคลนถล่ม  2-5 ต.ค.