เปิดงานวิจัย สัญญาณป่วย ‘โควิด-19’ ที่รุนแรง  

27 ก.ย. 2563 | 06:42 น.

วารสารนานาชาติ ตีพิมพ์ผลงาน ‘แพทย์ธรรมศาสตร์’ พบสัญญาณป่วย ‘โควิด-19’ ที่รุนแรงสัมพันธ์กับ อาการท้องเสียของผู้ป่วย

วารสารทางการแพทย์ชั้นนำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ของเดือนกันยายน พศ.2563 ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัย ‘แพทย์ธรรมศาสตร์’ หลังศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม มธ.

 

พบข้อบ่งชี้ว่า อาการของระบบทางเดินอาหารสัมพันธ์กับ “โควิด–19” ที่รุนแรงอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการ “เบื่ออาหาร” ตามด้วย “ท้องเสีย”
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“อองซานซูจี” เตือนประชาชนเลี่ยงรักษาโควิด-19 ด้วยวิธีพื้นบ้าน

ยอดโควิด 27 ก.ย.63 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย จากสหรัฐอเมริกา

สหรัฐฯคาดยอดดับจากโควิดแตะ 2.26 แสนราย ภายใน 17 ต.ค.

น่าห่วง "เมียนมา"ป่วยโควิดเฉียด 10,000 ราย

 

วารสารทางการแพทย์นานาชาติด้านระบบทางเดินอาหารและตับ ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ชื่อ JGH Open (An open access journal of gastroenterology and hepatology) ได้ตีพิมพ์บทความวิชาการซึ่งเป็นข้อค้นพบของคณะแพทย์ไทย นำโดย ศ.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคระบบทางเดินอาหาร  คณะแพทยศาสตร์ และ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยโควิด–19 ที่มีอาการรุนแรง มักมีอาการของโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ร่วมด้วย

ศ.นพ.รัฐกร วิไลชนม์

สำหรับบทความวิชาการดังกล่าว มีชื่อว่า “Gastrointestinal manifestation as clinical predictor of severe COVID-19: A retrospective experience and literature review of COVID-19 in Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)” หรือ “การใช้อาการทางระบบทางเดินอาหารเพื่อทำนายการป่วยรุนแรงของโควิด-19 : การศึกษาย้อนหลังและทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับโรคโควิด – 19 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน”

 

โดยผู้วิจัยได้ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโควิด–19 ชาวไทย ที่เข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 และรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยโควิด–19 ในภูมิภาคอาเซียน โดยศึกษาถึงปัจจัยบ่งชี้เพื่อทำนายการป่วยรุนแรงของโควิด-19

 

งานวิจัยดังกล่าว ได้วิเคราะห์รายละเอียดเชิงลึกตั้งแต่ประวัติผู้ป่วย ข้อมูลทางคลินิก ประวัติการรักษา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ของผู้ป่วยโควิด–19 รวม 40 ราย ที่มีผลตรวจโรคโควิด–19 เป็นบวก โดยอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอยู่ที่ 30.6 ปี และ 55% เป็นผู้หญิง ทั้งนี้พบว่า ผู้ป่วย 12 คน หรือ 30% มีอาการโรคระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย อาการที่พบมากที่สุดคือ “เบื่ออาหาร” โดยพบมากกว่า 17.5% ขณะที่อาการท้องเสียพบ 15%

เปิดงานวิจัย สัญญาณป่วย ‘โควิด-19’ ที่รุนแรง  

นอกจากนี้ผลการวิจัยระบุอีกว่า ผู้ป่วย 9.1% มีอาการของโรคระบบทางเดินอาหารก่อนหน้าที่จะพบ โรคโควิด–19 และ 63.6% มีอาการทางระบบทางเดินอาหารในเวลาเดียวกับที่ป่วย ขณะเดียวกันมีผู้ป่วย 27.3% ที่พบอาการป่วยด้วยโรคทางเดินระบบอาหาร หลังจากป่วยด้วยโรคโควิด–19 ที่สำคัญก็คือผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียมักจะสัมพันธ์กับอาการป่วยโควิด–19 ที่รุนแรง 

 

สำหรับงานวิจัยในประเด็นเดียวกันนี้ ทั่วโลกพบผู้ป่วยโควิด–19 ที่มีอาการทางระบบทางเดินอาหารราว 30% ซึ่งสูงกว่าการศึกษาในประเทศจีนก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันการศึกษาในลักษณะเดียวกันที่ประเทศสิงคโปร์ พบว่าโรคโควิด–19 มีความสัมพันธ์กับโรคทางเดินอาหารอยู่ที่ 37% โดยอาการที่พบมากที่สุดคืออาการ “ท้องเสีย” อยู่ที่ 17-24% 

 

ทั้งหมดนี้ได้ข้อสรุปว่า อาการทางระบบทางเดินอาหารในผู้ป่วยโควิด–19 นั้น เป็นอาการที่พบได้บ่อย และสามารถเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหนก็ได้ รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียมักจะเกิดอาการป่วยโควิด–19  ที่รุนแรงตามมา ข้อมูลจากการศึกษานี้ น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อการวางแผนการรักษาผู้ป่วยโควิด–19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต