แนะเกษตรกรปรับตัวรับ‘อาร์เซ็ป’

17 ก.ย. 2563 | 06:23 น.

พาณิชย์ เดินหน้าแนะทุกภาคส่วนเตรียมใช้ประโยชน์และปรับตัวรับความตกลงการค้าฉบับใหม่ทั่วภูมิภาคต่อเนื่อง เปิดเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ ‘ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีลอาร์เซ็ป’ ปลื้มผู้ประกอบการและเกษตรกรตื่นตัว พร้อมปรับตัวรับผลกระทบกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ในเดือนพฤศจิกายน 2563 จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะเมื่อความตกลงอาร์เซ็ปมีผลใช้บังคับ จะกลายเป็นความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

 

เนื่องจากมีประชากรเกือบ 3,600 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP โลก รวมถึงจะเป็นเอฟทีเอฉบับที่ 14 ของไทย ซึ่งผู้ประกอบการและเกษตรกรของไทยควรเตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่สร้างโอกาสการส่งออกสินค้าเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่แห่งนี้

แนะเกษตรกรปรับตัวรับ‘อาร์เซ็ป’

โดยสินค้าไทยที่คาดว่าจะมีโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้น เช่น ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใย เครื่องแต่งกาย กระดาษ ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาคู สินค้าประมง อาหารแปรรูป และน้ำผลไม้ เป็นต้น

 

ในขณะเดียวกัน จะช่วยให้ผู้ผลิตเพื่อส่งออกไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบการผลิตที่หลากหลายและมีราคาที่ต่ำลงอีกด้วย อีกทั้งยังจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น และจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ด้วยเช่นกัน

 

แนะเกษตรกรปรับตัวรับ‘อาร์เซ็ป’

ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ นั้น กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงโครงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

โดยกรมฯ อยู่ระหว่างศึกษาและรวบรวมความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องการจัดตั้งกองทุน FTA และตั้งเป้าที่จะเสนอความเห็นเรื่องการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้ต่อระดับนโยบายในช่วงต้นปี 2564