คลายล็อกโควิด-แจกเงินเยียวยา ดึงความเชื่อมั่นดีขึ้น

09 ก.ย. 2563 | 07:21 น.

คลายล็อกโควิด-19 -เม็ดเงินเยียวยาถึงมือประชาชนดันดัชนีเชื่อมั่นดี4เดือนติด คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีโอกาสจะหดตัวน้อยลงที่ราว -7.5% จากก่อนหน้าที่คาดไว้ -8 ถึง -10%

นายธนวรรธ์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจกล่าวถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค. 2563 ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั่วประเทศ 2,242 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 โดยปรับจากระดับ 50.1 เป็น 51.0  เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่4  ที่ระดับ 43.6  โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ42.6 ในเดือนที่ผ่านมา โดยเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับที่ดี 3.5% ปานกลาง 36.7% และแย่  59.8%

คลายล็อกโควิด-แจกเงินเยียวยา  ดึงความเชื่อมั่นดีขึ้น

ขณะที่เดือนก.ค. กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับที่ดี 3.2% ปานกลาง 36.1% และแย่  60.7%  แต่การที่ดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 อย่างมากแสดงว่าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่อาจถดถอยเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

 

 

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 2 และจะค่อยๆดีขึ้นหากไม่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงจนควบคุมไม่ได้  เห็นได้จากดัชนีต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่น  ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบันที่โดยปรับดีขึ้นจากระดับ 29.9 ในเดือนก่อนสู่ระดับ 30.8 ส่วนดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต หรือ 6 เดือนข้างหน้า โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.3 มาอยู่ที่ระดับ 56.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 48.4. สู่ระดับ 49.1 ส่วนดัชนีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานในปัจจุบัน ปรับตัวดีขึ้นจาก 38.2 สู่ระดับ 39.0 ส่วน ดัชนีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานในอนาคตปรับตัวดีขึ้น จาก 58.6 เป็น 59.3

นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยบวก ที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กกง.) ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่0.50% ต่อปี และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นหลังผ่อนคลายการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 ทำให้คนออกมาทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่รัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวลดลง จาก 22.59 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ระดับ 22.29 บาทต่อลิตร

ส่วนปัจจัยลบ ก็ยังมีหลายปัจจัย เช่น การระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ทางด้านทางการเมือง และการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้รายได้เกษตรกรกรยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก ผู้บริโภคห่วงเรื่องค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และรู้สึกว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -7.3% ถึง -7.8% จากเดิม -5% ถึง -6%, รัฐบาลขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

 “ในภาพรวมผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤติโควิดทั่วโลก อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลายตัวลง พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดและฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค และแม้จะยังมีประเด็นการชุมนุมทางการเมืองอยู่เป็นระยะ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะสามารถหาทางออกได้ผ่านกลไกของรัฐสภา รวมถึงหากปัจจัยราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง และสถานการณ์โควิดโลกมีการระบาดหนักที่จะทำให้หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์รอบ 2 ซึ่งทั้งหมด ยังไม่เห็นน้ำหนักที่จะเกิดขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงมาตรการ "คนละครึ่ง" ที่กระตุ้นการบริโภคด้วยการให้เงิน 3,000 บาทแก่ประชาชน 15 ล้านคน โดยใช้งบประมาณ 45,000 ล้านบาท ว่า  ซึ่งแม้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในขณะนี้ แต่หากประเมินเบื้องต้น มาตรการดังกล่าวนี้จะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นได้ถึง 90,000 ล้านบาท และหมุนเวียนในระบบได้ 2 รอบ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้ 1-1.5%  โดยเงินจะหมุนเวียนไปในผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงล่าง อย่างน้อยสองรอบ รวมเป็นเกือบ 2 แสนล้านบาท  ดังนั้นจึงมองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีโอกาสจะหดตัวน้อยลงที่ราว -7.5% จากก่อนหน้าที่คาดไว้ -8 ถึง -10% ซึ่งต้องรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังจะออกมาว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร และเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะกลับมาไม่ติดลบหรืออยู่ในระดับ 0% ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ส่วนไตรมาส 2/2564 เศรษฐกิจน่าจะบวกได้เล็กน้อยจากฐานที่ต่ำในปีนี้