“อนุสรณ์” แนะยกเลิกหนี้ครัวเรือนบางส่วน

07 ก.ย. 2563 | 02:00 น.

“อนุสรณ์” เสนอผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังเพิ่มเติม ยกเลิกหนี้ครัวเรือนบางส่วนให้ครอบครัวที่ว่างงานและมีหนี้สูง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การติดเชื้อ “โควิด-19” (Covid-19) ทั่วโลกมากกว่า 27 ล้านคน และ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่ามีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การระบาดระลอกสอง แต่เชื่อมั่นว่า ระบบสาธารณสุขของไทยจะรับมือการแพร่ระบาดได้ดีกว่าหลายประเทศที่มีการระบาดระลอกสองไปก่อนหน้านี้

 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนและขึ้นอยู่กับว่า ไทยต้องปิดเมืองรอบสองหรือไม่ หากปิดเมืองรอบสอง การหดตัวติดลบ 12.2% ในไตรมาสสองจะไม่ใช่จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เป็นตัวกำหนดการใช้จ่ายภายในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้จะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ ประเมินในเบื้องต้นว่า  ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดระลอกสองต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศอาจจะรุนแรงกว่าการระบาดระลอกแรกหากการระบาดระลอกสองนำไปสู่การปิดเมืองแบบเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมอีกครั้งหนึ่ง  ขอให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกสองของ Covid-19 ในไทยด้วยความไม่ประมาท แม้ความพร้อมของระบบสาธารณสุขและการรองรับผู้ป่วยของประเทศดีขึ้นมากกว่าในช่วงระบาดระลอกแรก

“อนุสรณ์” แนะยกเลิกหนี้ครัวเรือนบางส่วน

แต่ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศอ่อนแอลง หนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจพุ่งสูงและมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ศักยภาพในการรองรับผลกระทบของเศรษฐกิจไทยจากการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดระลอกสองด้อยลง มีข้อจำกัดในการใช้นโยบายทางการคลังและมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆมากขึ้น

ขณะที่นโยบายการเงินการคลังเสนอให้ผ่อนคลายเพิ่มเติม โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1.สำหรับครัวเรือนที่มีสัดส่วนภาระหนี้สินเกิน 100% ของรายได้และสมาชิกในครอบครัวถูกปลดออกจากงานหรือว่างงานจากภัยพิบัติธรรมชาติ (กรณีเกษตรกรประสบภัยแล้งหรือน้ำท่วม) ควรศึกษาถึงการยกเลิกหนี้ครัวเรือนลง 30-50% ในระบบและพักการชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี หากครัวเรือนเป็นหนี้นอกระบบหรือหนี้ธนาคารพาณิชย์ให้โอนมายังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ พร้อมให้เงินช่วยเหลือชดเชยรายได้ครอบครัวละ 5,000 บาทต่อเดือน (ไม่รวมแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมซึ่งมีระบบประกันการว่างงานดูแลอยู่แล้ว) เป็นระยะเวลา 6 เดือน มอบสินเชื่อเพื่อการศึกษาไม่คิดดอกเบี้ยสำหรับบุตรธิดา และ สินเชื่อเพื่อการดำรงชีพในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2%     

2.ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ให้พักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี หากครัวเรือนเป็นหนี้นอกระบบหรือหนี้ธนาคารพาณิชย์ให้โอนมายังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มอบสินเชื่อเพื่อการศึกษาไม่คิดดอกเบี้ยสำหรับบุตรธิดา และ สินเชื่อเพื่อการดำรงชีพในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2%

3.จัดตั้งกองทุนเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ โดยให้ธุรกิจท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่องนำเงินไปปรับโครงสร้างกิจการเพื่อไปประกอบธุรกิจอื่น และ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Disruptive Technology และ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค 

4. จัดสรรงบประมาณของรัฐบาลหรือสนับสนุนทางการเงินหรือสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 0% สำหรับการวิจัยวัคซีน Covid-19 การผลิต การแจกจ่ายให้ทั่วถึงและประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจ การฉีดวัคซีนป้องกันฟรีทั้งหมด โดยนำเงินงบประมาณที่รั่วไหล (Leakage) จากการสั่งซื้อหรือนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนมาใช้สนับสนุน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อนุสรณ์" จี้ "ธปท." เลิกแนวคิด "อนุรักษ์นิยม" ชี้แก้วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้

“อนุสรณ์” แนะ "รัฐบาล" กู้เพิ่ม 3-5 แสนล้านฟื้นเศรษฐกิจ

“อนุสรณ์” ห่วงไทยมีปัญหา “ภาวะเงินฝืด”

สำหรับข้อเสนอมาตรการทางการเงินดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ทันทีผ่านกลไกธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ฉะนั้น รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณเพื่อเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของรัฐด้วยเพื่อสามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะทางนโยบายตามที่กล่าวมา คาดการณ์ว่า ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐต้องเพิ่มทุนภายในปีหน้าอีกครั้งหนึ่ง หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่กระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปีหน้า ธนาคารพาณิชย์บางแห่งอาจจำเป็นต้องเพิ่มทุนในช่วงปีหน้า

เช่นเดียวกัน หากธนาคารพาณิชย์บางแห่งไม่สามารถเพิ่มทุนได้และมีหนี้เสียจำนวนมาก รัฐต้องเข้าไปลดทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการขาดทุนหรือหนี้เสียก่อนแล้วจึงเพิ่มทุนแล้วแปลงสภาพธนาคารเอกชนเป็นธนาคารรัฐวิสาหกิจระยะหนึ่ง (อาจใช้เวลา 3-5 ปี) แล้วค่อยแปรรูปธนาคารรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นกลับไปเป็นธนาคารเอกชนในภายหลัง

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การที่ไทยจะรอดพ้นการระบาดระลอกสองอย่างรุนแรงได้เหมือนบางประเทศนั้น เราต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางของสาธารณสุขอย่างจริงจังและร่วมกันควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีเอกภาพ จากงานวิจัยและข้อมูลในเชิงประจักษ์พบว่า ประเทศที่มีการระบาดระลอกสองรุนแรง ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง เป็นเพราะมีระบบสาธารณสุขอ่อนแอ ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ประชาชนมีฐานะยากจนและมีหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ไม่สามารถหยุดงานได้เมื่อติดเชื้อ ไม่บอกความจริงเพราะกลัวตกงาน และมักมีระบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีความมั่นคงในงาน

มีงานศึกษาของ OECD พบว่า สถานการณ์ในตลาดการจ้างงานจะย่ำแย่กว่าวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินในปี พ.ศ. 2551-2552 มากกว่า 10 เท่าหากมีการระบาดระลอกสองทั่วโลก และ จะทำให้คนอีก 80 ล้านคนว่างงาน อัตราการว่างงานของกลุ่มประเทศ OECD จะเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 10% ในปีนี้ หากมีการระบาดระลอกสองรุนแรงทั่วโลกอัตราการว่างงานของกลุ่ม OECD อาจทะลุ 12.6% อัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับสูงในปีหน้ากรณีไม่มีระบาดระลอกสองรุนแรง อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 7.7% ระบาดระลอกสองรุนแรงอยู่ที่ 8.9% การที่กลุ่มประเทศ OECD ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเศรษฐกิจหดตัวและมีการว่างงานสูงมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยให้ติดลบต่อไปจากอุปสงค์นำเข้าสินค้าที่จะลดลงอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสสี่และอาจต่อเนื่องถึงปีหน้า ประเทศไทยควรนำระบบ Job Retention Programmes เพื่อรักษาการจ้างงานและกำลังซื้อภายในระบบเศรษฐกิจเอาไว้เช่นเดียวกับประเทศ OECD บางประเทศดำเนินการอยู่