ศึกษาธิการ ผนึก เอกชน สร้างแพลตฟอร์ม DEEP ลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

31 ส.ค. 2563 | 11:26 น.

ศธ.เปิดตัว DEEP-ดิจิทัล แพลตฟอร์มทางการศึกษายกกำลังสอง ดิสรัปชั่นทั้งระบบ เก็บฐานข้อมูลบุคลากรทางการศึกษา-นักเรียน ต่อยอดพัฒนาทุนมนุษย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานเปิดงาน “Education Digital Disruption ปลดล็อกการศึกษาไทยด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล” หรือการเปิดแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศที่เรียกว่า DEEP (Digital Education Excellence Platform) ณ โรงเรียนวัดราชบพิธ โดย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในฐานะประธานเปิดงานว่า ตนเองมีความมุ่งมั่นที่จะใช้ระบบการศึกษาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์หรือ Human Capital สู่ความเป็นเลิศ โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” เพื่อรองรับการปฏิรูปทางการศึกษาตามแผนงานการศึกษายกกำลังสอง โดยมี DEEP เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบูรณาการการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

 

“DEEP ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมของระบบการศึกษา สร้างความยืดหยุ่นในการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่มีหลักสูตรต่างๆ รองรับ โดยผู้เรียนสามารถเลือกหัวข้อเรียนตามสมรรถนะที่ต้องการพัฒนาได้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียน คุณครู และผู้บริหารสถานศึกษา ที่สำคัญจะเป็นการตอบโจทย์สมรรถนะของบุคลากรที่ภาคเอกชนหรือตลาดต้องการ โดยประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ามาเรียนเพื่อการ Re-Skill เพิ่มทักษะของตัวเองได้เช่นกัน เพราะ DEEP เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

 

“เราต้องการสร้างทุนมนุษย์ ดังนั้นการศึกษามีเป้าหมายสำคัญในการที่จะสร้างให้คนไทยทุกคนประสบความสำเร็จในอาชีพที่เขาต้องการ ถ้าหากเราสามารถทำแบบนี้ได้ เราก็จะมีคนที่มีความสามารถทั่วทั้งประเทศเราต้องมาร่วมกันสร้างการศึกษายกกำลังสอง การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นเลิศในแบบฉบับของแต่ละคน เพราะถือว่าอนาคตของเด็กไทย คืออนาคตของประเทศชาติ” นายณัฎฐพลกล่าว

 

ทั้งนี้จากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Digital Transformation) ในโลกศตวรรษที่ 21 รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงศึกษาธิการภายใต้การนำของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน มีนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการผนึกกำลังร่วมกับภาคเอกชนและภาคสังคม ในการ “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนการศึกษา ปฏิรูปสู่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริงและยั่งยืน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนกว่า 10 ล้านคนของประเทศสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีคุณภาพ และมีทางเลือกที่หลากหลายในการเรียนรู้ ให้ทั้ง “ครูเก่ง นักเรียนเก่ง” เพื่อสร้างทุนมนุษย์รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

“นายกฯ” ย้ำ เรียนออนไลน์ เฉพาะช่วง โควิด เท่านั้น

เลื่อนสอบเข้า ม.1-ม.4 ปีการศึกษา 2563

กระทรวงศึกษา สร้าง “ชลกร” ถ่ายทอดหลักสูตรบริหารจัดการน้ำ

ศธ.สั่งใช้ "สภานักเรียน" ฟังความเห็นการเมือง ถึง 15 ก.ย.

 

จึงได้เกิดเป็น “แพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ” หรือ “Digital Education Excellence Platform” หรือ DEEP หนึ่งในกลไกหลักเพื่อขับเคลื่อนการศึกษา โดย DEEP คือห้องเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นทักษะเฉพาะทางตามความต้องการของตลาด ด้วยการเสริมความรู้ตามหลักสูตรตามฐานสมรรถนะและความรู้ตามความสนใจซึ่งทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลขนาดไหนก็ตาม
                                                         ศึกษาธิการ ผนึก เอกชน สร้างแพลตฟอร์ม DEEP ลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

จากสถิติของกระทรวงศึกษา พบว่ามีตลาดผู้เรียนกว่า 10 ล้านคนโดยประกอบด้วย นักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ขณะที่นอกระบบการศึกษามีภาคสังคมที่ต้องการการพัฒนาทักษะที่จำเป็น และขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีผู้ผลิตคอนเท้นต์ที่มีประโยชน์มากมาย DEEP จึงเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาความรู้ต่างๆ ได้มากขึ้น โดยในช่วงระยะแรกของ DEEP เริ่มต้นให้การพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ และทักษะด้านดิจิทัลให้กับนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิตหลักสูตรชั้นนำและได้รับการยอมรับทั่วโลกด้านมาตรฐานการประเมินผล อาทิ Google, Microsoft, Cambridge Assessment English, Pearson, British Council, IC3, ICDL, Arkki และมหาวิทยาลัยในเครือราชภัฏ ในการอัพโหลดเนื้อหาขึ้นบนแพลตฟอร์ม

 

นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า DEEP เป็นดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทางการศึกษา ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนการบริหารงาน และการพัฒนาทรัพยากรครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา โดยด้านกระบวนการบริหารจัดการภายใน กระทรวงศึกษาธิการจะมีฐานข้อมูลของบุคลากร และเด็กนักเรียนทั้งหมดที่ครบถ้วนทันที  เป็นบิ๊กดาต้า ผ่านระบบดิจิทัล จากปัจจุบันที่การบันทึกเก็บข้อมูลด้วยระบบเอกสารมากกว่า 50 เปอร์เซนต์ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ทันเวลาเพื่อปรับเปลี่ยน หรือวางนโยบายเพื่อพัฒนาบุคลากรได้

 

 “ระบบ DEEP จะทำงานผ่าน 3 ส่วน ได้แก่ ระบบ Classroom Management, School Management และ Office Management เพื่อระบบบริหารจัดการภายในทั้งด้านงบประมาณ ครุภัณฑ์ ระบบระเบียนเด็ก ซึ่งลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวก็สามารถดึงข้อมูลมาใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน DEEP ช่วยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรทางการศึกษา เป็นการเปลี่ยนกรอบวิธีคิดด้านการเรียนการสอน และสิ่งแวดล้อมทางการเรียน เปลี่ยนรูปแบบให้ห้องเรียนเป็นที่ฝึกฝนคล้ายคลึงกับห้องปฏิบัติการ หรือเรียนรู้ผ่านโครงงานในภาคปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่มีในระบบ DEEP สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับจากนี้ 12 เดือน ข้อมูลจะสามารถคลิกดูด้วยปลายนิ้วทันที” นายวราวิชกล่าว และเสริมว่า ภายใต้ระบบ DEEP ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบการจัดหางานให้กับผู้จบการศึกษา เพื่อให้สามารถมีงานทำภายหลังจบการศึกษาได้ทันทีอีกด้วย   

 

ด้านคุณ Tenzin Dolma Norbhu, Director of Government Affairs and Public Policy Southeast Asia, Google Asia Pacific กล่าวว่า กูเกิล มีความยินดีที่กระทรวงศึกษาธิการเห็นความสำคัญและมีความมุ่งมั่นในการวางแผนเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของประเทศ

 

“ดิฉันอยากจะเน้นความสำคัญว่าหัวใจของความสำเร็จในการสร้างเทคโนโลยีดิจิทัล คือการสร้างประโยชน์และความสะดวกให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใช้ซึ่งได้แก่คุณครู นักเรียน และบุคคลากรทางการศึกษาของไทย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญจึงไม่ใช่การสร้างเพื่อให้มีอยู่ แต่ต้องมีการเรียนรู้ ปรับปรุง และทำให้ดีขึ้นอยู่เสมอเพื่อผู้ใช้ระบบทุกคนต่อไป” Tenzin Dolma Norbhu กล่าว

 

นายปวิช ใจชื่น รองกรรมการผู้จัดการ สานงานกลุ่มธุรกิจภาครัฐ ภาคการศึกษา และสาธารณสุข บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง “DEEP” ว่า การเกิดโควิด-19 ก่อให้เกิดการปรับกระบวนการในเกือบทุกแขนงอย่างรวดเร็วซึ่งรวมไปถึงด้านการศึกษาด้วย โดยเป็นตัวเร่งให้ทั้งระบบซึ่งเริ่มต้นจากผู้บริหารโรงเรียนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านไอที เพื่อปรับกระบวนการครั้งใหญ่ที่สอดคล้องกันตั้งแต่บุคลากร อาจารย์ นักเรียน ระบบและหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้ระบบการศึกษามีความต่อเนื่อง และเมื่อเราต้องเดินต่อ การศึกษาแบบผสมผสาน หรือ Hybrid นั้นจะสามารถมาประสานแนวทางต่อจากนี้ได้เป็นอย่างดี

 

“ผมเชื่อมั่นว่าโครงการนี้ของกระทรวงศึกษาจะเป็นรากฐานที่ดีให้กับการศึกษาไทยตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงอนาคต ด้วยเป้าหมายที่ไม่เพียงแต่จะสร้างวิถีใหม่ของการศึกษาแต่ยังสามารถดำรงเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาทักษะและสร้างการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในทิศทางที่ถูกต้องตามที่กำหนด ซึ่งในระหว่างช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ โรงเรียนและระบบการศึกษาคงต้องมุ่งแสวงหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อก้าวข้ามความท้าทายในครั้งนี้ ผมเชื่อว่าเมื่อศาสตร์แห่งการสอนจากอาจารย์มาจับคู่กับเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนเฉพาะเพื่อการศึกษาแบบผสมผสาน จะสามารถเข้ามาขับเคลื่อนผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาอันเป็นเลิศ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเติมเต็มประสบการณ์ด้านการศึกษาให้แก่ครูและนักเรียนได้ดีที่สุด”

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า การศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยน โดยต้องเน้นการพัฒนาทักษะใน ๔ ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) การทำงานเป็นทีม (Collaboration) และมีทักษะการสื่อสารที่ดี (Communication) หากทำได้เชื่อว่า เยาวชนไทยจะได้รับการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งการศึกษายกกำลังสองของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเยาวชนผ่านระบบดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทำให้ตนนั้นมีความหวังต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย

 

สำหรับการใช้งานบนแพลตฟอร์ม DEEP นั้นเป็นระบบการล็อกอินเดียว (Single Sign-on) โดยเมื่อลงทะเบียนบน DEEP ในครั้งแรกและได้รับอีเมลจากระบบก็สามารถเข้าใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ อย่าง กูเกิล ไมโครซอฟต์ผ่านแพลตฟอร์ม DEEP ได้ และในอนาคตทางกระทรวงศึกษาธิการยังได้วางแผนให้ DEEP ได้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่นอกจากจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ให้นักเรียนและครูในระบบแล้ว ยังช่วย “ปรับเปลี่ยน” ระบบการเรียนการสอนของไทย ให้นักเรียน นักศึกษาได้ทำการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองนอกห้องเรียน และนำมาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณครูที่จะรับหน้าที่ในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกทางการเรียนหรือ Facilitator ได้ด้วย

 

นอกจากนี้  DEEP ยังสามารถเก็บสถิติการเรียนการสอนในแต่ละครั้งของนักเรียนและครู โดยในปัจจุบันตั้งแต่เปิดการใช้ DEEP อย่างไม่เป็นทางการนั้นมีผู้เรียนล็อกอินเพื่อใช้ DEEP ไปแล้วกว่า 450,000 ครั้ง ซึ่งจากการเก็บสถิติที่เป็นประโยชน์ของ DEEP นี้ จะช่วยในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการประเมินทั้งกระบวนการในรูปแบบ Lifetime Development Profile ที่จะบันทึกเส้นทางการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองได้

 

ซึ่งการพัฒนาด้านการจัดการในครั้งนี้ทาง  Dr. Libing Wang, Senior Programme Specialist in Higher Education of Section for Educational Innovations and Skill Development (EISD), UNESCO Bangkok กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาของทุกประเทศ ซึ่งหากทุกประเทศมีเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพ จะส่งเสริมให้ประชากรของประเทศนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณเตือนคนทั่วโลก ให้เกิดตื่นตัว และเตรียมพร้อมรับการปรับเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอน สำหรับตัวเด็กและเยาวชน ซึ่งคนที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด จะเก่งที่สุดเช่นกัน

 

ทั้งนี้ DEEP จึงเป็นห้องเรียนแห่งชาติที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เข้าถึงความรู้ที่ทันสมัย ทันต่อโลก ง่ายแค่เพียงคลิกเดียว โดยสามารถเข้าชมหน้าแพลตฟอร์ม DEEP ได้ที่ www.deep.go.th และภายใต้แผนงานการศึกษายกกำลังสองนั้น ยังมีชิ้นส่วนต่ออีกชิ้นหนึ่งที่จะช่วย “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” ระบบการศึกษาทั้งหมด ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายนนี้ กับการเปิดตัวศูนย์ต้นแบบ Human Capital Excellence Center (HCEC) หรือศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ ณ โรงเรียนสตรีวิทยา 2 ซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21

                                                       ศึกษาธิการ ผนึก เอกชน สร้างแพลตฟอร์ม DEEP ลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา