สยามกลการ ยามาฮ่า ลุยธุรกิจ "เฮลิคอปเตอร์พ่นยาฆ่าแมลง" รับ เกษตรยุค 4.0

25 ส.ค. 2563 | 06:32 น.

“กลุ่มสยามกลการ”  เปิดธุรกิจใหม่ ใช้เฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับ พ่นสารเคมีแปลงเกษตร คิดค่าบริการ 120 บาท/ไร่ เน้น อ้อย ข้าวโพด รับเกษตรยุค 4.0 ร่วมทุน ยามาฮ่า มิตซุย แบงค์กรุงเทพ 

กลุ่มสยามกลการ ร่วมมือพันธมิตร ยามาฮ่า มิตซุย แบงค์กรุงเทพ (ทุนส่วนตัวของ ชาติศิริ โสภณภนิช) เปิดธุรกิจใหม่ บริษัท สยามยามาฮ่า มอเตอร์ โรโบทิคส์ จำกัด บริการพ่นสารเคมีในแปลงเกษตร โดยเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับ หลังได้รับใบอนุญาต เพื่อประกอบธุรกิจในการเดินอากาศโดยใช้อากาศยานไร้คนขับจากกรมการบินพลเรือน และกระทรวงคมนาคม ในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการในธุรกิจนี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "สยามกลการ" ผนึก "ยามาฮ่า มอเตอร์" เปิดธุรกิจใหม่ เฮลิคอปเตอร์พ่นยาฆ่าแมลง

ทีมงาน บริษัท สยามยามาฮ่า มอเตอร์ โรโบทิคส์ จำกัด

บริษัท สยามยามาฮ่า มอเตอร์ โรโบทิคส์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท มีสัดส่วนการถือหุ้น ได้แก่ บริษัท สยามกลการอะไหล่ จำกัด  ถือหุ้น  41%, บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด  ถือหุ้น  34%, บริษัท  มิตซุยแอนด์คัมปะนี จำกัด  ถือหุ้น  15% และนายชาติศิริ โสภณภนิช  ถือหุ้น 10%

นายปิยุรัช ศุภารัตน์ ผู้จัดการทั่วไป/Chief Operating Officer [COO] บริษัท สยามยามาฮ่า มอเตอร์ โรโบทิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทหวังเข้ามาพัฒนาการเกษตรของไทย ภายใต้แนวคิด รวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย ด้วย บริการเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับ ของยามาฮ่า พ่นสารเคมีในแปลงเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย สารเพิ่มความหวาน ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตรที่เป็น ไร่อ้อย และ ไร่ข้าวโพด ในภาคกลาง ภาคตะวันตก อีสาน และเหนือ 

สำหรับค่าใช้จ่าย บริการเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับพ่นยาฆ่าแมลง เฉพาะการวางแผนและทำการบินอยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ (ไม่รวมสารเคมี) เบื้องต้นรับบริการพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100 ไร่ต่อหนึ่งจ๊อบ

บริษัท สยามยามาฮ่า มอเตอร์ โรโบทิคส์ จำกัด ตอนนี้มีเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับประจำการอยู่ 4 ลำ โดยตั้งเป้าหมายปีนี้ให้บริการได้จำนวนพื้นที่รวม 2 หมื่นไร่ และปี 2564 จะมีจากเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับเพิ่มเป็น 8 ลำ ขยายพื้นที่ให้บริการเป็น 1 แสนไร่ 

การใช้งานเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับ ในการทำเกษตรกรรมนั้น ช่วยให้เกษตรกรทำงานได้เร็วขึ้นกว่าวิธีการเดิมๆ หลายเท่า เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับ สามารถฉีดพ่นสารเคมีได้รวดเร็ว โดยใช้เวลาบนพื้นที่ 1 ไร่ ภายใน 1 นาที เท่านั้น หรือช่วยให้เกษตรกรทำงานได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 7-10 เท่า (เช่นแบกถังเดินฉีดพ่น)