เช็คที่นี่ ศบค.ผ่อนคลายเข้าชมกีฬา ประเภทไหน เชียร์ในสนามได้เท่าไหร่

21 ส.ค. 2563 | 07:03 น.

ศบค.ผ่อนคลายเข้าชมกีฬา กีฬาที่มีความเสี่ยงต่ำ กีฬากลางแจ้งและไม่มีการตะโกนเชียร์ อนุญาตให้มีผู้เข้าชมได้ 70% ของความจุสนาม ส่วนกีฬาที่มีความเสี่ยงสูง กีฬาในร่มและมีการตะโกนเชียร์ มีผู้เข้าชมได้เพียง 25% ของความจุสนาม

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน เห็นชอบการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นไปตามการเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณามาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันที่ 7 ส.ค.63 ซึ่งเห็นควรให้ผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม ทั้งในส่วนของสถาบันการศึกษาที่กลับมาเปิดเรียนตามปกติ, อนุญาตการแข่งขันกีฬาแบบมีผู้เข้าชม และให้การขนส่งสาธารณะมีจำนวนผู้โดยสารเต็มตามความจุมาตรฐาน ซึ่งได้เริ่มทดลองไปตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้ว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศบค.เผยความคืบหน้า "การพัฒนา-ผลิตวัคซีนโควิด-19"

ยอดโควิด 21 ส.ค.63 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย มาจาก“สิงคโปร์”

อ่วม! ทั่วโลกติดโควิด-19 ทะลุ 22.8 ล้านราย เสียชีวิต 7.9 แสนราย

WHO เตือนยุโรปการ์ดตก สาเหตุโควิด-19 ระบาดรอบใหม่

สำหรับแนวทางการจัดการแข่งขันกีฬาแบบมีผู้เข้าชมได้นั้น ทางศบค.ไม่ได้มีการกำหนดจำนวนผู้เข้าชมในสนามไว้อย่างตายตัว เพียงแต่กำหนดจำนวนผู้เข้าชมเป็นสัดส่วนต่อความจุของสนาม โดยประเภทกีฬาที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ กีฬากลางแจ้งและไม่มีการตะโกนเชียร์ ซึ่งก็จะอนุญาตให้มีผู้เข้าชมได้ 70% ของความจุสนาม เช่น กอล์ฟ เทนนิส ยิงธนู ยิงปืน เป็นต้น ส่วนประเภทกีฬาที่มีความเสี่ยงสูง คือ กีฬาในร่มและมีการตะโกนเชียร์ ก็จะอนุญาตให้มีผู้เข้าชมได้เพียง 25% ของความจุสนาม เช่น บาสเก็ตบอล, วอลเลย์บอล และมวย เป็นต้น

นอกจากนี้ที่ประชุมศบค. ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-30 ก.ย.63 จากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค.นี้

โดยเหตุผลที่ต้องขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทุกเขตท้องที่ต่ออีก 1 เดือน เนื่องจากประเมินแล้วเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกยังอยู่ในความเสี่ยงสูง และมีคนไทยและคนต่างชาติหลายกลุ่มจากต่างประเทศ เดินทางกลับเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภายในประเทศเอง ได้มีการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การเปิดโรงเรียน, สถาบันการศึกษา, มหาวิทยาลัย และสถาบันกวดวิชาได้ตามปกติ, การอนุญาตให้มีการแข่งขันกีฬาแบบมีผู้เข้าชมได้ และการให้ขนส่งสาธารณะมีจำนวนผู้โดยสารได้เต็มความจุดตามมาตรฐาน       

"การที่ ศบค.ชุดใหญ่เห็นชอบให้ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือนนั้น เป็นเพราะผ่านการตัดสินใจจากการทำงานร่วมกันของทุกกระทรวงแล้ว ซึ่งได้นำเสนอเป็นลำดับขึ้นขึ้นมาเพื่อให้ขยายเวลาไปอีก 1 เดือน...การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนไป ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว กิจการร้านค้าสามารถกลับมาเปิดได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องเป็นในรูปแบบของ New Normal" นพ.ทวีศิลป์ระบุ