โรงแรมเชียงใหม่หืดจับ กลับมาเปิดใหม่ แค่30%

17 ส.ค. 2563 | 09:10 น.

โรงแรมเชียงใหม่กลับมาเปิดได้แค่ 30 % นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือชี้ แม้สถานการณ์กระเตื้องขึ้นจากรัฐกระตุ้นเที่ยวไทย แต่ยังต้องอยู่กับตลาดไทยไปถึงต้นปีหน้า

โรงแรมเชียงใหม่ กลับมาเปิดได้แค่ 30 % นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือชี้  แม้สถานการณ์กระเตื้องขึ้นจากไทยคุมโควิด-19 ได้ รัฐกระตุ้นเที่ยวไทย แต่ยังต้องอยู่กับตลาดไทยไปถึงต้นปีหน้า แนะปรับโครงสร้างราคาให้สอดคล้อง ช่วงแรกหวังได้แค่มีกระแสเงินสดหล่อเลี้ยงพอคุ้มต้นทุนคงที่ กำไรต้องรอหลังกลับช่วงไฮซีซัน แนะเชียงใหม่ปรับกลยุทธให้เป็นทางเลือกของนักเดินทางให้ได้ 

 

นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ และผู้จัดการทั่วไป โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท เชียงใหม่ สะท้อนภาพว่า โรงแรมเชียงใหม่ยังกลับมาเปิดให้บริการใหม่ได้เพียง 30% ส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางขึ้นไปถึงใหญ่ โดยที่อัตราการเข้าพักยังเป็นตัวเลขหลักเดียว หวังจะกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับ พร้อมกับเร่งกลยุทธ์ให้เชียงใหม่เป็นตัวเลือกการตัดสินใจเดินทางเพิ่ม

โรงแรมเชียงใหม่หืดจับ  กลับมาเปิดใหม่ แค่30%

สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมเชียงใหม่

โอกาสที่โรงแรมในเชียงใหม่จะกลับมาเปิด 100% เหมือนเดิม ยังเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้กระแสเงินสด ขณะที่ 3 เดือนช่วงโควิดตั้งแต่เดือนเมษายน รายได้โรงแรมไม่ใช่แค่ลดแต่เป็นศูนย์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายเข้าถึงการเยียวยาภาครัฐเรื่องเงินซอฟต์โลน แต่ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง เพราะแบงก์ก็มีข้อจำกัดเยอะ โดยเฉพาะรายกลางไปถึงเล็ก บางรายเพิ่งเปิดตัวก็มาเจอโควิด กลับมาได้ยากอยู่ น่าจะไม่เกิน 50%

ขณะนี้มีโรงแรมที่กลับมาเปิดได้เพียง 30% จาก 2,000 กว่าแห่ง จำนวนห้องพักไม่เกิน 20,000 ห้อง จากที่เคยมีรวม 60,000 ห้อง
โดยนักท่องเที่ยวซึ่งตอนนี้่ต้องเป็นไทยเที่ยวไทย กลุ่มศักยภาพเชื่อว่าน่าจะมีเกิน 10 ล้านคน ซึ่งเชียงใหม่เคยมีคนเดินทางเข้ามาปีที่แล้ว 11 ล้านคน ในสถานการณ์อย่างนี้ไม่หวังเยอะ ปีนี้อาจหายไปครึ่งหนึ่งต้องยอมว่าจะมียอดรวมน้อยลงขณะที่โรงแรมที่มีศักยภาพยังพอมีกระแสเงินสดที่พอกลับมาเปิดได้ ส่วนใหญ่เป็นโรง แรมระดับกลางถึงใหญ่ ขณะที่ระดับเล็ก หรือผู้ประกอบการที่ปรับบ้านมาเป็นโฮเทลก็ดีแชริ่งอีโคโนมีก็ดี ยังไม่สามารถกลับมาเปิดได้ตอนนี้ เพราะฉะนั้น ส่วนแบ่งการตลาดที่แผ่วลงก็พอเหมาะกับโรงแรมที่สามารถกลับมาเปิดได้ในช่วงนี้

 

แนวโน้มไตรมาส3

หลังคลายล็อกและโรงแรมทยอยกลับมาเปิด มีการเสนอแพ็กเกจเพื่อกระตุ้นยอด และต้องปรับโครงสร้างราคาลง เช่น ราคาห้องพัก เพราะเดิมขายตลาดฝรั่งหรือทัวริสต์นอก แต่ตอนนี้ต้องขายตลาดคนไทย ขณะที่กำลังซื้อของคนก็มีจำกัด แต่ก็คาดหวังแคมเปญกระตุ้นเที่ยวไทยของรัฐบาลให้เราได้อานิสงค์บ้างไม่ถึงกับมาก ประกอบกับคนต้องการเปลี่ยนบรรยากาศหลังปลดล็อก ต้องทำให้เชียงใหม่เป็นตัวเลือกในการเดินทางที่น่าจะกระเตื้องขึ้น เป็นโอกาสในวิกฤติที่สายการบินก็มอง เช่น ไทยแอร์เอเซียก็เพิ่มไฟลต์จาก 5 เป็น 9 ไฟลต์ต่อวัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลบวกกันการท่องเที่ยว เนื่องจากว่าถ้าไม่มีสายการบินก็เป็นการลดโอกาสที่คนจะตัดสินใจซื้อ

เพราะฉะนั้นเราก็มองดูว่า ถึงแม้ว่าไตรมาส 3 จะเห็นผู้ประกอบการเริ่มกระเตื้อง เดือนกรกฎาคมยังเปิดอยู่ประมาณ 20% เพราะฉะนั้นเดือนสิงหาคม กันยายน หรือตุลาคม อาจจะมีเห็นว่ามีผู้ประกอบการเริ่มพอเห็นดีมานด์มีการขยับตัวของนักเดินทางภายในประเทศ ก็อาจจะมีคนที่พอคาดหวังไว้ว่าถ้าเปิดมาแล้วพอมีรายได้มาหักค่าใช้จ่าย ให้มีความสัมพันธ์กันไม่ถึงกับขาดทุนและสร้างงานให้คนในท้องถิ่น เป็นสิ่งที่เขาอาจจะพิจารณาอยู่

จากนี้ไปถึงต้นปีหน้าเราต้องอยู่กับตลาดในประเทศแน่ๆ ดังนั้น เรื่องสนนราคาผู้ประกอบการต้องพิจารณา เทียบกับต้นทุนคงที่ของกิจการที่มี เพื่อตั้งราคากันใหม่ ช่วงไตรมาส 3 อาจขอแค่มีกระแสเงินสดเข้ามาก่อน ไม่ถึงขั้นมีกำไร เพียงให้คุ้มกับต้นทุนคงที่ ช่วงถัดไปค่อยดูจากเดิมตั้งให้มาร์จิ้นสูงเพราะปริมาณการท่องเที่ยวมาก แต่จากนี้ต้องพึ่งตลาดในประเทศอาจต้องบางลงแล้วรับในจำนวนเพิ่มขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระดมสมองเร่ง ฟื้นท่องเที่ยว หลังโควิด เชียงใหม่บุก‘Gastronomy tourism’-ระนองมุ่ง‘เที่ยวปลอดภัย’ 

ชู"เชียงใหม่โมเดล"นำร่องคลายล็อกธุรกิจ

“กรีนบัส” เชียงใหม่ ขอรัฐชดเชย 30% รับกฎ “ที่เว้นที่”

โรงแรมเชียงใหม่หืดจับ  กลับมาเปิดใหม่ แค่30%

 

กลยุทธ์ปลุกเชียงใหม่

ครึ่งปีนี้จนถึงปีหน้ายังคงต้องเน้นตลาดคนไทย โดยในหน้าฝนเดิมเป็นช่วงออฟซีซันของการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ต้องเร่งสร้างความรับรู้ให้คนกรุงเทพฯซึ่งเป็นลูกค้าหลัก ให้เขาตัดสินใจเห็นเชียงใหม่เป็นทางเลือกในช่วงฤดูฝน ซึ่งต้องมีกลยุทธ์ในการไปกระตุ้นและขยายกลุ่มตลาดให้กว้างขึ้น

ซึ่งนับแต่ปลดล็อกคนออกเดินทางไปเปลี่ยนบรรยากาศ อัตราการเข้าพักโรงแรมในหัวเมืองท่องเที่ยวระยะทางไม่ไกลนัก เช่น ระยอง ชลบุรี หัวหิน อยู่ที่ 70-80% ในวันศุกร์-อาทิตย์ ขณะที่เชียงใหม่ยังเป็นอัตราเลขตัวเดียวอยู่ ก็หวังว่าจะขยับเป็น 20-30% ภายในเดือนแรกที่เปิดเมือง ต้องช่วยกันทำให้เห็นว่า เชียงใหม่มีสนนราคาที่ดี เป็นราคาที่จับต้องได้ ขายราคาที่ไม่ทำให้ตัวเองขาดทุนจนเกินไป ก็ต้องอยู่ได้ทั้งผู้ประกอบการเพื่อที่จะเกิดการจ้างงาน

ทุกวันหยุดยาวเราต้องเสริมสร้างกิจกรรม ได้คุยกับ ททท.ว่าอยากจะให้เขาจัดเป็นอีเว้นต์ เช่น พฤศจิกายน จะมีเทศกาลลอยกระทง จะจัดอย่างไร จะเน้นอย่างไร เพราะลอยกระทงเชียงใหม่มีเสน่ห์มาแต่เดิม จะจัดอย่างไรให้มีเสน่ห์และตรงกับเทรนด์ของคน เตรียมกิจกรรมให้สอดรับกับความคาดหวังของคนที่มาเที่ยวอยากเห็น มาเที่ยวลอยกระทงจะมีแต่กระทงโดยไม่มีอีเวนต์คงไม่ได้ ให้เขามีประสบ การณ์ที่เอาไปเชิญชวนคนอื่นๆ มาเที่ยวเชียงใหม่ต่อ

หรืองานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่เป็นช่วงหยุดยาว เราจะเชิญชวนให้เขามาเที่ยวเชียงใหม่อย่างไร เราต้องเน้นตลาดภายในประเทศอย่างเดียวตอนนี้ไปอีก 6 เดือน หรือ 9 เดือนที่เหลือ เพราะฉะนั้นต้องกระตุ้นหรือทำแคมเปญต่างๆ เพื่อจะเอาการท่องเที่ยวภายในกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพ ออกเที่ยวระดับภูมิภาค ขยายตลาดให้กว้างขึ้น เชียงใหม่เราก็ไม่น้อย หน้าจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นทะเล

จุดขายเชียงใหม่ก็คือความเป็นเชียงใหม่ เชียงใหม่แบรนด์ก็ยังคงความเป็นเชียงใหม่แบรนด์ สินค้าที่เรามีขายอยู่เป็นภาพลักษณ์ของจังหวัด ตลอดระยะเวลาตั้งแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่เริ่มบูม ก็คือวิถีชีวิตของคน เราไม่สามารถที่จะขายอินฟราสตรักเจอร์เพื่อจะมาเป็นแบรนด์เชียงใหม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ยังสโลว์ไลฟ์ มีวิถีชีวิตของชุมชน มีหัตถกรรมงานศิลป์ มีเรื่องของอาหาร แหล่ง ช็อปปิ้งที่เป็นสินค้าโอท็อป สินค้าที่เป็นวิถีของคน โดยการสร้างประสบการณ์ให้กับคนที่มาเยือน เป็นจุดแข็งมาแต่เดิมของเชียงใหม่ที่ต้องคงไว้ เพียงแต่ปรับการนำเสนอให้สอดคล้องกับเทรนด์ยุคใหม่

การท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย สำนักงานเชียงใหม่ จัดแคมเปญ “Chiang Mai, I miss you” ชู 3 แพ็กเกจเปิดเมืองเชียงใหม่ให้คิดถึง โดยใช้กลุ่มเด็กๆ เช่น น้องเรไรจากเพจเรไรรายวัน น้องริชชี่ นักแสดงชาวเชียงใหม่ มาร่วมทำกิจกรรม เพื่อให้กลุ่มเด็กๆ เหล่านี้ไปดึงเด็กๆ มาเที่ยว เป็นตลาดกลุ่มใหม่ เริ่มแรกอาจได้หลักพัน แต่อาจขยับเป็นหลักหมื่นในเดือนถัดๆ ไป

สำหรับโรงแรมที่ปิดหรือประกาศขายกิจการ เห็นมีประกาศบ้าง แต่อย่างที่บอกเศรษฐกิจแบบนี้ธนาคาก็ไม่ค่อยปล่อยเงินอยู่แล้ว ทุกคนเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยหมด เพราะฉะนั้น มีผู้ประกอบการบางรายที่ไปต่อไม่ได้ ไม่ว่าจะประกาศให้เช่า ประกาศขาย ไม่ใช่รายใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นขนาดกลางลงไปทางเล็ก 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563