จี้จัดสรรคลื่น3500ความถี่หลักบริการ5G 

14 ส.ค. 2563 | 09:29 น.

โควิด กระทบเศรษฐกิจสังคม  เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว   ดีแทคแนะไทยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส จี้จัดสรรคลื่น 3500 MHz เป็นความถี่หลัก 5G  เชื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำคัญสู่เศรษฐกิจแบบไฮบริดอีโคโนมี

นายอธิป กีรติพิชญ์  ผู้เชี่ยวชาญและวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่าการระบาดของโรคโควิด -19 จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย แต่วิกฤตครั้งนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการทบทวนกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต 

โดยเทคโนโลยีออนไลน์ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยในสถานการณ์ปกติเชื่อว่าไม่น่าจะใช้เวลาอันสั้นเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งออนไลน์ การทำงานจากบ้าน หรือ Work from home และการติดต่อสื่อสารรูปแบบต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชัน เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยคาดว่าจะเติบโตชัดเจนมากขึ้นในปีหน้าแทนที่จะเป็น 5-10 ปีจากที่เคยประเมินไว้

ซึ่งหมายความว่าทรัพยากรมนุษย์จะต้องเปลี่ยนจากแบบเดิมในอุตสาหกรรมที่ผ่านมาที่ใช้แรงงาน ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่ต้องใช้ระบบดิจิทัลเพิ่มทักษะในตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตของเศรษฐกิจแบบไฮบริด (Hybrid economy)   

ประเทศไทยจะต้องมีการเชื่อมต่อจากจุดตัดของระบบเศรษฐกิจแบบเดิมสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะภาคส่วนสำคัญ ๆ เช่นการโรงงานผลิตการส่งออก การรักษาและสุขภาพ และการเดินทาง และขนส่ง ต้องยกระดับการเปลี่ยนผ่านด้วยการนำการเชื่อมต่อของเทคโนโลยีดิจิทัลไปสู่การรองรับพฤติกรรมใหม่ของลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย

เพื่อให้เศรษฐกิจในอนาคตมีความยืดหยุ่นและแข่งขันได้มากขึ้น ทุกภาคส่วนจะต้องเชื่อมต่อออนไลน์ ดังนั้นเศรษฐกิจแบบไฮบริด (Hybrid economy) จึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับประเทศไทยให้ซ่อมและสร้างเพื่อก้าวไปในอนาคต แต่ทั้งหมดจะต้องมั่นใจได้ว่าประเทศต้องมีรากฐานที่มั่นคงของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบนิเวศดิจิทัล ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะใหม่ด้านดิจิทัล บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความเท่าเทียมกันทางสังคม

ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น การเชื่อมต่อโทรคมนาคม เทคโนโลยี 5G ที่ก้าวไปพร้อมกับโลก อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทั้งหมดนี้จะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปแบบเดิม เช่น การขนส่งทางราง ถนน ทางอากาศ และทางน้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระบุคลื่น 3500 MHz ปลดล็อก 5G ไทย

สิงคโปร์-มาเลย์ ปักธง 5G 3500 MHz 

อธิป กล่าวต่อไปว่าประเทศในภูมิภาคนี้ที่มีความก้าวหน้าเทคโนโลยี 5G  คือ สิงคโปร์   โดย IMDA (หน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์) ตั้งข้อสังเกตว่าเครือข่าย 5G NSA หรือ 5G Non-standalone  จะถูกสร้างขึ้นบนเครือข่าย 4G ที่มีอยู่และจะส่งผลให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติมในบริการ eMBB หรือแค่ความเร็วของอินเทอร์เน็ตบนมือถือเท่านั้น แต่การที่จะนำศักยภาพของ 5G มาใช้อย่างเต็มที่ให้แตกต่างจาก 4G ผู้ให้บริการจำเป็นต้องปรับใช้เครือข่าย SA หรือ 5G standalone ตั้งแต่เริ่มต้นให้บริการ นอกจากนี้ยังช่วยลดลงทุนและระยะเวลาในการอัปเกรดเครือข่ายสู่ผู้ใช้งานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สิงคโปร์มีความเห็นพ้องกับอุตสาหกรรมทั่วโลกว่ามีเพียงเครือข่าย 5G SA เท่านั้นที่สามารถมอบความสามารถ 5G ที่สมบูรณ์แบบการใช้เทคโนโลยี 5G ที่มีความปลอดภัยและแม่นยำสูง และความหน่วงที่ต่ำ อย่างแตกต่างจากเครือข่าย 5G NSA ซึ่งสร้างขึ้นบนเครือข่าย 4G ที่มีอยู่และสามารถให้ความเร็วที่เร็วขึ้นเท่านั้น ในขณะที่ระบบนิเวศอุปกรณ์สำหรับเครือข่าย SA ในย่านความถี่ 3500 MHz ได้รับการพัฒนามากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเครือข่าย 5G ของสิงคโปร์มีความพร้อมในอนาคตและสามารถส่งมอบความสามารถ 5G เต็มรูปแบบ IMDA ได้ใช้แนวทางมีการติดตั้งเครือข่าย 5G SA ในย่านความถี่ 3500 MHz ตั้งแต่เริ่มต้น

ปัจจุบัน บริษัทโทรคมนาคมทั่วโลกมากกว่า 70% ต่างใช้คลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ ป็นหลักสำหรับ 5G รวมถึงสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ส่วนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตช์ มีเพียงผู้ให้บริการไม่กี่ประเทศในโลก เช่น ไชน่าโมบายล์ หมายความว่า อุปกรณ์และระบบฮาร์ดแวร์ซอฟแวร์รวมถึงยูสเคสของ 5จี คลื่น 2600 จะถูกจำกัดให้แคบลงจากผู้ให้บริการไม่กี่ราย

ขณะที่มาเลเซียมุ่งสู่ 5G ด้วยความพร้อม 3500 MHz  National 5G Task Force หรือ คณะกรรมการที่กำกับดูแลรับผิดชอบ 5G ของมาเลเซีย ได้ระบุการใช้งานคลื่นความถี่ 3500MHz สำหรับ 5G และคลื่น 700 MHz ในขณะนี้ยังไม่เปิดให้บริการ 5G แต่มีแผนการใช้คลื่น 3500MHz ในการให้บริการในช่วงปี 2021คณะกรรมการที่กำกับดูแลรับผิดชอบ 5G ของมาเลเซีย มีแผนจะนำ 5G พัฒนาด้าน เมือง-การรักษาสุขภาพ-การศึกษา หรือ smart city, smart health และ smart education

จี้จัดสรรคลื่น3500ความถี่หลักบริการ5G 

จี้จัดสรรคลื่น 3500 MHz ความถี่หลัก 5G

ทั้งนี้มุมมองของ ดีแทค นั้นเห็นว่าหน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมและภาครัฐควรใช้หลักการผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ได้หรือ neutral technology principle มาเป็นนโยบายการพัฒนาคลื่นความถี่ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในเวทีเทคโนโลยีอย่างไม่สะดุด สิ่งนี้จะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคในที่สุดทำให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้นและราคาไม่แพง

บริษัทโทรคมนาคมทั่วโลกมากกว่า 70% ใช้คลื่น 3500 MHz เป็นย่านความถี่หลักสำหรับ 5G รวมถึงสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศหลักในการให้บริการ และพัฒนาสู่ 5G จึงทำให้เกิดระบบนิเวศของ 5G คลื่น 3500 MHz ที่มากกว่าจากทั่วโลกเลือกใช้งาน 3500 MHz สำหรับคลื่น 2600 MHz นั้นมีเพียงผู้ให้บริการไม่กี่ประเทศในโลก เช่น ไชน่าโมบายล์ (China Mobile) บริษัท โทรคมนาคมของจีนใช้งาน 5G คลื่น 2600 MHz เป็นย่านความถี่หลัก ซึ่งหมายความว่าอุปกรณ์และระบบฮาร์ดแวร์ซอฟต์แวร์รวมถึง use case ของ 5G จะถูกจำกัดกรอบให้แคบลงจากผู้ให้บริการไม่กี่ราย

คลื่น 3500 MHz สำหรับ 5G ที่นำมาใช้กับหลายประเทศทั่วโลกยังทำให้เกิดข้อดีของการประหยัด หรือ economy of scale ทั้งอุปกรณ์ผู้ให้บริการ และอุปกรณ์ของผู้ใช้งานทั้ง 5G ในอุตสาหกรรม ที่เป็น use case ต่างๆ และสมาร์ทโฟนสำหรับการใช้งานของผู้บริโภคทั่วไปที่จะมีราคาต่อหน่วยและความหลากหลายที่มากกว่า

ความล่าช้าของการจัดสรรคลื่นความถี่ 3500 MHz จะมีค่าเสียโอกาสอย่างมากเช่นเดียวกับที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญในการจัดสรรคลื่น 2100 MHz สำหรับ 3G เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ 3G ในประเทศไทยช้ากว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกราว 10 ปี  หน่วยงานกำกับดูแลควรมีแผนงานสำหรับการจัดสรรความถี่ที่แน่นอนโดยเฉพาะการระบุช่วงความถี่ที่ชัดเจนพร้อมการจัดสรรกรอบเวลา ที่สำคัญผู้กำหนดนโยบายต้องทำตามแผนงานอย่างชัดเจนมิฉะนั้นอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสับสนวุ่นวายและการพัฒนาเศรษฐกิจล่าช้า

เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการเข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และในขณะที่ประเทศไทยกำลังต้องการซ่อมและสร้างระบบพื้นฐานเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต ประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงความต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติมสำหรับ 5G ที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าและทางเลือกที่หลากหลาย ดังนั้น คลื่น 3500 MHz ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นย่านความถี่หลักสำหรับ 5G ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประสานกันทั่วโลก จะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก economy of scale ที่ประหยัดการลงทุนและจากการนำศักยภาพของ 5G มาใช้ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อปลดล็อกศักยภาพของ 5G ผู้ให้บริการแต่ละรายควรได้รับอนุญาตในการใช้งานคลื่นความถี่ระหว่าง 80-100 MHz ของย่านความถี่ 3500 MHz ซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมต่อการให้บริการ 5G

นายอธิป  กล่าวปิดท้ายว่า "ไทยต้องคำนึงถึงความต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติมสำหรับ 5จี ที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลให้เกิดความคุ้มค่า และทางเลือกที่หลากหลาย คลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ ควรเป็นย่านความถี่หลักสำหรับ 5จี เป็นส่วนหนึ่งของการประสานกันทั่วโลก ทำให้ไทยใช้ประโยชน์จาก economy of scale ที่ประหยัดการลงทุน นำศักยภาพของ 5จี มาใช้ได้เต็มที่ ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายควรได้รับอนุญาตในการใช้งานคลื่นความถี่ 3500 ระหว่าง 80-100 เมกะเฮิรตช์