“สสว.” ปั้น “SMEs” 40 รายบุกตลาดจีนเพิ่มยอดขาย 250 ล้าน

24 ก.ค. 2563 | 11:05 น.

“สสว.” ปั้น “SMEs” 40 รายบุกตลาดจีนเพิ่มยอดขาย 250 ล้าน สู้ “โควิด-19” หลังเศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวได้เร็วที่สุด

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “สสว.” เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” (Covid-19) ในขณะนี้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะถดถอย ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างรุนแรง มีแต่เพียงประเทศจีนที่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19    ได้รวดเร็ว และในช่วงที่ผ่านมาเป็นตลาดหลักเพียงประเทศเดียวที่ไทยมียอดส่งออกขยายตัว 21.3% ขณะที่ตลาดอื่นๆ ลดลงหมด โดยสินค้าที่ส่งไปประเทศจีนที่ขยายตัวสูงสุดจะอยู่ในกลุ่มผลไม้สดที่เติบโต 115%

ทั้งนี้ สสว. จึงได้ปรับแผนการส่งเสริมตลาดต่างประเทศให้กับ “เอสเอ็มอี” (SMEs) โดยได้เน้นไปที่ประเทศจีนมากที่สุด ผ่านทางอีคอมเมิร์ซและระบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเดินทางในช่วงโควิด-19 ภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการออนไลน์ด้วย ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ปีงบประมาณ 63 มีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถนำสินค้าไปขายในตลาดจีนโดยอาศัยช่องทางผ่านแพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส ออนไลน์ของจีน เช่น แพลตฟอร์ม เถาเป่า (Taobao) และเสี่ยวหงชู (XiaoHongShu Shop) เป็นต้น

นอกจากนี้  ยังมีกระบวนการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการได้แก่ การอบรม Workshop ระยะเวลา 4 วัน เพื่อเตรียมสินค้า และตัวผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและความพร้อมในการเข้าสู่ตลาด อีคอมเมิร์ซ จีน เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคจีน และเทรนด้านการตลาดออนไลน์ของประเทศจีน รวมทั้ง e-Landscape and ecosystem ของตลาดอีคอมเมิร์ซจีน และเช็คลิสต์เตรียมพร้อมเกี่ยวกับการจดทะเบียนต่าง ๆ ให้กับสินค้าที่จะไปขายที่จีน

“สสว.” ปั้น “SMEs” 40 รายบุกตลาดจีนเพิ่มยอดขาย 250 ล้าน

“สสว. ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจีนมาให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวกับผู้ประกอบการเพื่อเตรียมสินค้าให้พร้อมในการขายที่จีน เช่น การสร้างคอนเทนต์สินค้าเพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลภาษาจีนมาให้คำแนะนำ รวมทั้งแนะแนววิธีการนำสินค้าขึ้นขายผ่านแพลตฟอร์ม อี-มาร์เก็ตเพลส ของจีน การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การเปิดบัญชีธนาคาร และการจดทะเบียนธุรกิจในจีน”
 

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ประกอบการนำสินค้าขึ้นขายบนแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ จีน แล้ว สสว. ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับแพลตฟอร์มเพื่อกระตุ้นการขายสินค้า เช่น จัดให้มีการรีวิวสินค้าโดย KOL (Key Opinion Leader) การเข้าเคมเปญโปรโมชันของแพลตฟอร์ม เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ จะประกอบด้วยสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ 1.สินค้ากลุ่มอาหารแปรรูป  ,2.สินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง และสินค้าเพื่อสุขภาพ และ3.สินค้ากลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องแต่งตัว ของใช้และของตกแต่งในบ้าน เนื่องจากวิเคราะห์ตลาดจีนพบว่าสินค้าไทยทั้ง 3 กลุ่มนี้มีศักยภาพมากในตลาดจีน โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ผ่าน Facebook โครงการ “SME Online By OSMEP”

“สสว.” ปั้น “SMEs” 40 รายบุกตลาดจีนเพิ่มยอดขาย 250 ล้าน

“ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 40 รายนี้ ได้พิจารณาจากศักยภาพของสินค้า โดยพิจารณาจากสินค้าที่มีมาตรฐาน มีกำลังการผลิตเพียงพอ  เป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดสากล และสามารถดำเนินการจดทะเบียนต่างๆ ได้ตามเงื่อนไขของแพลตฟอร์ม เป็นต้น จากนั้นจะเริ่มกระบวนการเตรียมความพร้อมโดยการฝึกอบรมและให้คำปรึกษา โดยคาดหวังว่าเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมในสิ้นเดือนกันยายน ผู้ประกอบการทั้ง 40 ราย จะสามารถนำสินค้าขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ จีนได้ทั้งหมด และจะทยอยขายสินค้าเพื่อสร้างรายได้และเป็นการเปิดตลาดใหม่ในระดับโลกให้กับสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยคาดว่าภายใน 1 ปี จะสร้างยอดขายให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท”

นางสาวกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ Co-Founder & CEO TeC Thailand e-Business Center กล่าวว่า ประเทศจีนมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกว่า 800 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอยู่ 500-600 ล้านคน ซื้อสินค้าจากอินเตอร์เน็ต โดยโอกาสขายสินค้าไทยให้คนจีน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. ขายสินค้าให้กับคนจีนที่มาท่องเที่ยวในไทย 2. ขายให้ผู้บริโภคในประเทศจีน ซึ่งมีเป้าหมายที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับการวางตัวสินค้าว่าจะขายแบบใหนให้กับจีน แต่จะต้องเน้นในเรื่องคุณภาพ การสร้างแบรนด์ มีความแตกต่าง และต้องเป็นสินค้าที่ผลิตในไทย จะทำให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับสินค้าที่คนจีนมองหาจากผู้ประกอบการไทย อันดับ 1 เครื่องสำอาง สุขภาพและความงาม อันดับ 2 อาหาร อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว อาหารแห้ง ผลไม้อบแห้ง อันดับ 3 ดีไอวาย แฟชั่น สินค้า
โอท็อปท้องถิ่น แต่สินค้าโฮท็อปแพ็กเกจจิ้งต้องสวย ดูน่าซื้อน่าเป็นของฝากจะขายดีตามสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนสินค้าอื่นๆก็ยังมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมากในจีน ขึ้นอยู่กับการวางแผนการตลาดให้มีความเหมาะสม ซึ่งควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงรายมณฑลหรือเมือง เพราะแต่และมณฑลก็มีคามแตกต่างกันมาก
              นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มของฝากที่จีนนิยมเข้ามาซื้อในไทย ก็มีโอกาสขยายตลาดอนไลน์ได้มากในตลาดจีน โดยเฉพาะในกลุ่มยาของไทย ซึ่งคนจีนมองว่าเป็นยาวิเศษของคนจีน เช่น พาราเซตตามอน ยาหม่อง ยาอมแก้ไอ แก้เจ็บคอ เพราะเชื่อมั่นในสมุนไพรของไทย และยาไทย เพราะมองว่ารักษาหายได้เร็ว รวมทั้งหมอนยางพารา โดยสินค้าเหล่านี้ขายดีในไป่ตู้ ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยใช้ดาราไทยที่ดังในประเทศจีนมาช่วยโฆษณาสินค้า ก็จะทำให้เจาะสินค้าในจีนได้เร็วขึ้น