โชว์วิสัยทัศน์ “ณกรณ์” ผู้ว่าการ กยท.คนที่ 2

20 ก.ค. 2563 | 10:55 น.

“ณกรณ์” เผย ตั้ง กยท.หน่วยบริการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน บริหารแบบครบวงจร ชี้ “ยางล้อ”คัมแบ็กแรงหลังโควิดคลาย มาแรง วิ่งเคียงถุงมือยาง ชี้ชาวสวนมีทางเลือก 2 ตลาด

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (14 ก.ค. 63) เห็นชอบแต่งตั้ง นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท เป็นผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)  และกำหนดอัตราเงินเดือนตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 140,000 บาท  ตามมติคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 และครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไปแต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และให้นายณกรณ์ ตรรกวิพัท ลาออกจากการเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจก่อนลงนามในสัญญาจ้างด้วย 

 

โชว์วิสัยทัศน์ “ณกรณ์” ผู้ว่าการ กยท.คนที่ 2

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท  เป็นผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ลำดับที่2 (คนแรก นายธีธัช สุขสะอาด วาระหมดอายุที่สำนักนายกรัฐมนตรี) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนนโยบาย ในส่วนโครงการความร่วมมือการนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ซึ่ง กยท. วางตำแหน่งพร้อมที่จะสนับสนุนให้กับสถาบันเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการนี้

 

“ในเบื้องต้นภารกิจหลักตอนนี้ที่ต้องช่วย การยางฯ จะต้องเป็นตัวช่วยสนับสนุน เป็นหน่วยบริการที่ดี คงไม่ใช่เฉพาะแค่พี่น้องสถาบันเกษตรกรเพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบการ สถาบันเกษตรกร และภาคเอกชน จะต้องเข้าไปช่วยและดูแล นั่นคือหน้าที่ของเราที่จะต้องดูแลทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายเข้าด้วยกัน ทั้งภาคเกษตรกร กับสถาบัน และภาคสถาบันและเอกชน และเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ จะทำงานเป็นเครือข่าย จะเป็นแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าหากทุกคนต่างทำงานและไม่เชื่อมกัน จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นทุกภาคส่วนนับจากนี้จะต้องช่วยกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ”

 

โชว์วิสัยทัศน์ “ณกรณ์” ผู้ว่าการ กยท.คนที่ 2

นายณกรณ์ กล่าวว่า วันนี้โอกาสของถุงมือยางยังสดใส เข้ามาช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราได้ดี ถ้ามีการใช้น้ำยางจำนวนมาก พูดง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามหากมีการใช้ยางพารา ถือว่าเป็นตัวช่วย “ถุงมือยาง” เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในความสนใจเป็นพฤติกรรมใหม่ของคน พอได้รับความสนใจพิเศษก็จะมีผลโดยตรงกับน้ำยาง และอ้อมไปมีกับยางแห้งด้วยไปโดยปริยาย เพราะถ้ามีการใช้น้ำยางมาก น้ำยางแห้งก็ขาดแคลน

 

“ปัจจุบันอุสาหกรรรมยางล้อหลังผ่อนคลายโควิด -19 เริ่มกลับมาผลิตได้เต็มกำลังการผลิตแล้ว ทำให้เกษตรกรเริ่มกลับมาทำยางแห้ง มองว่าเกษตรกรจะมีทางไปที่หลากหลายมากขึ้นในตลาด ผมก็ไม่ได้บอกว่าตอนนี้ราคายางแห้งดี ให้ไปทำยางแห้งนะไม่ใช่ จากตลาดในช่วงโควิด น้ำยางดี ยางแห้งไม่ดี ตอนนี้ไปได้ทั้งคู่แล้ว เพื่อให้เกษตรกรมีทางขยับหรือให้มีแนวทางเลือกที่จะเฉลี่ยกันไปทั้งสองตลาด ไม่เอนด้านใดด้านหนึ่ง”

 

อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป “กยท.” เป็น "หน่วยบริการ" เกษตรกร หรือผู้ประกอบการ อยากได้อะไร ให้ประสานเรื่องอะไร กยท.จะทำให้ทั้งหมด