รถไฟฟ้า ‘สายสีชมพู’ ขบวนแรกถึงไทย ปลายปี ตั้งเป้าใช้บริการ2แสนคนต่อวัน

22 ก.ค. 2563 | 00:00 น.

บีทีเอส-ซิโนไทย เผยสายสีชมพูดีเลย์ หลังติดปัญหาส่งมอบพื้นที่ล่าช้า เหตุโควิด-19 ทำพิษ เร่งส่งรถขบวนแรกภายในปีนี้ มั่นใจเปิดเดินรถบางช่วงทันปีหน้า คนใช้บริการปีแรก 2 แสนคนต่อวัน ด้านรฟม.ยืนยันได้ข้อยุติเวนคืนช่วงคลองเปรมฯ

แม้สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีการก่อสร้างล่าช้าไปกว่าแผน กระทั่งต้องเลื่อนการเปิดให้บริการจากปลายปี 2564 ไปยังปี 2565 แต่ปลายปีนี้ คนกรุงจะได้เห็นรถไฟฟ้าสายสีชมพู ขบวนแรก และทยอยเปิดให้บริการเดินรถเป็นบางช่วงได้ก่อนในปีหน้า

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเร่งส่งมอบขบวนรถไฟฟ้าสายสีชมพูให้ทันตามแผนภายในปีนี้ โดยจะนำบุคลากรเข้ามาพร้อมกันเพื่อดำเนินการติดตั้งระบบของขบวนรถ และทยอยเปิดเดินรถแบ่งเป็นช่วงๆ (Partial) ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ตั้งเป้าผู้มาใช้บริการสายสีชมพูในปีแรก ราว 2 แสนคนต่อวัน

สอดคล้องกับ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ระบุว่า ผู้ผลิตจีนเร่งดำเนินการส่งขบวนสายสีชมพูขบวนแรกภายในปีนี้ สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ขณะนี้มีความล่าช้าเล็กน้อย เนื่องจากติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ รวมถึงการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่กีดขวาง ทั้งนี้ยังได้รับผลกระทบช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ส่งผลให้ความคืบหน้าการก่อสร้างในภาพรวมของโครงการ อยู่ที่ 60%

“ส่วนการเปิดเดินรถของสายสีชมพู ขณะนี้เราพยายามเปิดเดินรถบางส่วนให้ทันตามกำหนดเดิมในช่วงปลายปี 2564 ขณะที่การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม หากผ่านแล้ว หลังจากนั้นจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเร็วๆ นี้”

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า หลังจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่ติดปัญหาด้านการเวนคืนที่ดินบริเวณริมคลองเปรมประชากร ขณะนี้ได้ข้อยุติเรื่องการเวนคืนที่ดินแล้ว โดยชาวบ้านทั้ง 6 หลังคาเรือนรับข้อเสนอ และรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่แล้ว เนื่องจากเป็นบริเวณด้านข้างศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ซึ่งใช้ก่อสร้างสถานีหลักสี่ โดยทั้ง 6 หลังคาเรือนอยู่ในจุดที่จะก่อสร้างเป็นขาของเสารับสถานีหลักสี่ ขณะเดียวกันผู้รับเหมาได้ดำเนินการเข้าพื้นที่ก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นได้มีการเวนคืนเกือบเต็ม 100%

ส่วนปัญหาบริเวณสถานี PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ที่ต้องดำเนินการย้ายสถานีจากจุดเดิมที่อยู่บริเวณหน้าอุทยานมกุฏรมยสราญ ออกไปอีกประมาณ 300 เมตร ตามคำแนะนำของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นั้น ขณะนี้ในช่วงต้นเดือน กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางรฟม.ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาแล้ว

“สำหรับรายละเอียดพื้นที่เวนคืนบริเวณสถานี PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี นั้น เราไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อการพิจารณาของครม. ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานีจะขอพื้นที่เวนคืนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และเมืองทองธานี เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเราได้มีการ
ศึกษาพื้นที่เวนคืนบ้างแล้วคาดว่าจะนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณาได้ หลังจากสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ผ่านการอนุมัติแล้ว”

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,593 วันที่ 19 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563