ททท.บูม 5 แคมเปญปีหน้า ดันไทยฮับ เมดิคัล&เวลเนส โลกปี 67

12 ก.ค. 2563 | 10:25 น.

ททท.กางแผนอัด 5 แคมเปญหลักปีหน้า รุกตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหลังโควิด-19 รับเป้าหมายดันไทย “เมดิคัล แอนด์ เวลเนส รีสอร์ท ออฟ เดอะ เวิล์ด” ปี 2567 โฟกัสดึงคนไทยที่อาศัยในต่างประเทศเข้ามารักษาสุขภาพ-ความงาม เจาะกลุ่มข้าราชการต่างชาติรักษาในไทย รุกออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส เปิดเจรจาธุรกิจเสมือนจริง

จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับไทยติดอันดับ 2 ของโลก ประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด จาก 184 ประเทศทั่วโลก แสดงถึงประสิทธิภาพในการดูแลที่ดีของไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย( ททท.) จึงเล็งเห็นศักยภาพและโอกาสในการขยายฐานตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น โดยมุ่งขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ตามแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยว ภายหลังวิกฤติโควิด-19

นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ททท.จะผลักดันให้ ไทย เป็นเมดิคัล แอนด์ เวลเนส รีสอร์ท ออฟ เดอะ เวิล์ดในปี 2567 ดังนั้นในปี 2564 ททท.จะโฟกัสแคมเปญ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ใน 5 แคมเปญหลักๆ ได้แก่

1.Telemedicine for Overseas Thais ซึ่งจะดึงดูดให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ราว 10% จากจำนวนทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน ให้เดินทางเข้ามารักษาหรือรับบริการด้านสุขภาพและความงามในประเทศไทย ซึ่งเฉลี่ยแล้วก็จะสร้างรายได้เข้าไทยอยู่ที่ราว 8 หมื่นบาทต่อคน และให้เป็นกระบอกเสียงในการแนะนำครอบครัวหรือเพื่อนชาวต่างชาติในประเทศนั้นๆให้เลือกรับบริการด้านสุขภาพและความงามของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ททท.บูม 5 แคมเปญปีหน้า ดันไทยฮับ เมดิคัล&เวลเนส โลกปี 67

เนื่องจากวิกฤติโควิด ทำให้พบว่าการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของคนไทยในต่างประเทศยังมีข้อจำกัด ททท.จึงจะร่วมมือกับ Dr. A to Z ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ท อัพ ออนไลน์ แพลตฟอร์ม ด้านสุขภาพและความงาม และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เปิดบริการให้คำปรึกษาคุณหมอ หรือ Teleconsultant แก่คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการหรือการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพหรือความงาม โดยเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องรอคิว และค่าใช้จ่ายถูกกว่าการไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลในประเทศนั้นๆ

2.Global Health Insurance Companies เจาะกลุ่มข้าราชการในประเทศที่มีจำนวนผู้เข้ารับการรักษาในประเทศไทยมาก เช่น เมียนมา,ลาว,กัมพูชา และตะวันออกกลาง โดยผลักดันความร่วมมือในระดับ G2G เพื่อให้เกิดข้อตกลงในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับการรักษาในไทยในสวัสดิการ นอกจากนี้จะทำงานร่วมกับบริษัทประกัน เพื่อเพิ่มประเทศไทยเข้าไปในสิทธิคุ้มครองในกรมธรรม์ให้ครอบคลุมการรักษาในประเทศไทย

3. Online Health Marketplace เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวด้านสุขภาพและความงาม โดยเน้นทำระบบออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส ที่จะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ด้านที่ 1 คือ B2B จากวิกฤติโควิด และ New Norm ที่เกิดขึ้น อาจทำให้มีข้อจำกัดในการจัดการเจรจาธุรกิจแบบเดิมๆ(Face to face) ททท.จึงจะขยายการจัดทำระบบ ONLINE MARKETPLACE โดยมุ่งเจาะเฉพาะตลาดมากขึ้น เช่น เจาะกลุ่มตลาด เมียนม่าร์ จีน หรือตะวันออกกลาง เพื่อเปิดโอกาสในการเจรจาธุรกิจเสมือนจริงระหว่างผู้ประกอบการไทย ได้แก่โรงพยาบาลและสถานประกอบการต่างๆกับผู้ซื้อจากต่างประเทศทั่วโลก รวมทั้งบริษัทFacilitator ด้านสุขภาพและความงาน เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องทางธุรกิจ

ด้านที่ 2 คือ B2C ททท.มีแนวคิดในการร่วมมือกับออนไลน์ แพลตฟอร์ม เช่น Dr. A o Z ในการสร้างมาร์เก็ตเพลส สำหรับบริการด้านเมดิคัล และเวลเนส เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้แก่นักท่องเที่ยวโดยตรง ตามตลาดกลุ่มเป้าหมาย โดยนำสินค้าและบริการของแต่ละสถานประกอบการและโรงพยาบาล เสนอขายบนเว็บไซต์ หากลูกค้าสนใจสินค้าสามารถรับรายละเอียดหรือสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าและบริการได้โดยตรงก่อนตัดสินใจซื้อและบริการ ซึ่งในแพลตฟอร์มนี้ททท.จะเชิญ influencer / กลุ่มผู้นำความคิด หรือไข้มาแชร์ประสบการณ์เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น หรืออาจเปิดเป็น ออนไลน์ คลีนิก ให้บริการตอบคำถามโดยตรงกับนักท่องเที่ยว

4. Hotelistic (Hotel + Holistic) กลุ่มเป้าหมาย คือ นักท่องเที่ยวทั่วไป โดยใช้โรงแรมเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสาร ให้นักท่องเที่ยวรับรู้ถึงการบริการด้านสุขภาพ ความงาม โดยจะร่วมมือกับธุรกิจเวลเนส นำบริการทางด้านนี้มาให้บริการที่โรงแรม โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลหรือสถานประกอบการ เช่น การตรวจสารพิษ กำจัดสารพิษ ร่างกาย การตรวจเช็คสุขภาพ , IV Vitamin Booster เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดการให้บริการเป็นลูกโซ่

5. Agent/Media Outreach โดยสำนักงานททท.ในต่างประเทศกว่า 29 แห่งทั่วโลก จะดำเนินการสร้างภาพลักษณ์ให้ไทยเป็น Top of mind destination ด้านเมดิคัลและเวลเนสของโลก ซึ่งจะทำงานเชิงลึกในการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ ร่วมกับบล็อกเกอร์ รวมถึงการร่วมงานด้านเมดิคัล แฟร์ ต่างๆ เช่น ททท.สำนักงานซิดนีย์ จะ upskill ให้เอเย่นต์ ที่ขายสินค้าและบริการด้านสุขภาพและความงามกว่า 120 รายทั่วออสเตรเลีย

การเข้าร่วมงานส่งเสริมการขาย งานไชน่า อินเตอร์เนชันแนล เมดิคัล ทัวริสซึมแฟร์ ของททท.ปักกิ่ง การจัดทำ Joint Promotion ร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่เพื่อเพิ่มช่องทางการขายสินค้าและบริการ ททท.สำนักงานนิวยอร์คร่วมกับพันธมิตร อาทิ สถานประกอบการในไทยการจัด Yoga and Meditation online session เผยแพร่ให้กับผู้สนใจในสหรัฐอเมริการะหวางวิกฤติโควิด-19 เป็นต้น

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563