ไทยโร่แจง WTO เหตุแบน 2 สาร ผวาคู่ค้าเอาคืน

30 มิ.ย. 2563 | 05:45 น.

ไทยแจง WTO เหตุผลแบน 2 สาร วงการหวั่นหลักฐานไม่แน่นถูกคู่ค้าตอบโต้แบนสินค้าเกษตรไทย สภาหอฯลุ้นรัฐผ่อนปรนค่าสารตกค้างตามมาตรฐานโคเด็กซ์ ปลดล็อกนำเข้าวัตถุดิบ

25 วันนับตั้งแต่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 เพื่อกำหนดให้สาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามมีไว้ในครอบครอง) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความพร้อมเรื่องมาตรการรองรับถึงผลกระทบที่จะตามมาที่ดีพอนั้น

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปีนี้ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (The Committee on Sanitary and Phytosanitary Measures) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 77 ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน ในระบบทางไกลแทนการเดินทางไปร่วมประชุมเช่นทุกปี ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในที่ประชุมจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบ และสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศสมาชิก รวมทั้งหารือข้อกังวลทางการค้าที่ประเทศสมาชิกมีต่อกฎระเบียบของประเทศสมาชิกอื่น ซึ่งรวมถึงเรื่องการแบน 2 สารเคมีของไทย

ไทยโร่แจง WTO เหตุแบน 2 สาร ผวาคู่ค้าเอาคืน

                                จูอะดี พงศ์มณีรัตน์

ล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้ส่งเอกสารมาถึงไทยแล้วอย่างเป็นทางการ (24 มิ.ย. 63) หลังร้องเรียนผ่าน WTO ว่าด้วยเรื่องค่าสารเคมีตกค้าง เพราะไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ และสินค้าเกษตรชนิดอื่น เมื่อไทยประกาศแบนแล้ว ปริมาณการตกค้างสูงสุด (MRL) จะสามารถคงค้างได้หรือไม่ ซึ่งได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปพิจารณาแล้ว และให้ตอบกลับมายังมกอช. (ปัจจุบัน ก.สาธารณสุขอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงฯว่าด้วยเรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ภายในวันที่ 18 ก.ค.63 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป)  

ไทยโร่แจง WTO เหตุแบน 2 สาร ผวาคู่ค้าเอาคืน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องทำไมไทยแบนทั้งที่ยังไม่มีผลการศึกษา และงานวิจัยความเสี่ยงผลกระทบรองรับ เรื่องนี้ได้ส่งเรื่องให้กรมวิชาการเกษตรไปทำข้อมูลมา ทั้งนี้ มกอช. จะเป็นหน่วยงานกลางที่จะนำข้อมูลและความเห็นของทุกหน่วยงานนำไปแก้ต่าง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของ WTO คือ การค้าเป็นธรรม โปร่งใสทุกประเทศ 

 

“ในเวทีนี้หากประเทศใดถูกใช้มาตรการที่เป็นการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ก็จะมาร้องเรียน ซึ่งประเทศที่ถูกร้องเรียนเช่นไทยจะต้องไปแก้ต่าง ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าเราไม่โปร่งใส จะกลายเป็นประเด็นที่ไม่ดีในเรื่องเงื่อนไขการค้าต่อไปในอนาคต การเรียกร้องครั้งนี้มีไม่กี่ประเทศ แต่ก็ต้องดูว่าประเทศสมาชิกอื่นที่เหลือจะร่วมด้วยหรือไม่”

อย่างไรก็ดียังโชคดีที่ปีนี้เป็นการประชุมทางไกลทำให้ไทยยังสามารถยื่นเอกสารประกอบการชี้แจงได้จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 หลังจากชี้แจงแล้วผลจะออกมาในรูปแบบใดยังไม่ทราบ เพราะในจำนวนสมาชิก WTO (ปัจจุบันมี 164 ประเทศ) เชื่อว่ามีหลายประเทศที่ใช้มาตรการแบบเดียวกับไทย อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ไทยเคยชนะคดีที่ประเทศคู่ค้านำมาตรการมากีดกันการค้า  เช่น สหรัฐฯ นำเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเลมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันการนำเข้ากุ้ง ไทยได้ยกเรื่องขึ้นฟ้องใน WTO ร่วมกับมาเลเซีย อินเดีย และปากีสถาน และชนะคดีในที่สุด

ไทยโร่แจง WTO เหตุแบน 2 สาร ผวาคู่ค้าเอาคืน

                                 จรรยา  มณีโชติ

ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรนำรายได้เข้าประเทศในปีที่ผ่านมากว่า 1.2 ล้านล้านบาท การแจงเวทีโลกครั้งนี้ยังไม่มั่นใจว่าไทยจะสามารถหักล้างเหตุผลการแบน 2 สารได้หรือไม่ จากในประเทศยังมีความขัดแย้งและเห็นต่าง และยังไม่มีงานวิจัยรองรับ เกรงจะเป็นชนวนทำให้ถูกคู่ค้าที่ขายวัตถุดิบให้ไทย แบนสินค้าเกษตรไทยเพื่อเอาคืน

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้นำเรื่องเสนอภาครัฐไปแล้วเรื่องสารตกค้างว่าควรให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศ (Codex) หลังไทยประกาศให้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และบังคับใช้มาตรการ zero tolerance (สารตกค้าง 0%) กระทบอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพราะประเทศต้นทางส่วนใหญ่ยังมีการใช้สารข้างต้นอยู่ในระดับมาตรฐานของ Codex

ไทยโร่แจง WTO เหตุแบน 2 สาร ผวาคู่ค้าเอาคืน

                                 กลินท์  สารสิน

“เวลานี้ทุกฝ่ายกำลังเร่งหาทางออกในเรื่องสารตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นอย.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรมว่าจะยอมรับได้แค่ไหน จะมีการผ่อนผันหรือไม่ เร็ว ๆ นี้คงมีคำตอบ”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,587 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563