4 สมาคมเมล็ดพันธุ์ออกโรง หนุนไทยร่วม UPOV 1991

27 มิ.ย. 2563 | 08:30 น.

4 สมาคมด้านเมล็ดพันธุ์ ส่งหนังสือถึงประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP หนุนไทยเข้าร่วม UPOV 1991 พร้อมแจง 8 ประเด็นที่สังคมไทยสงสัยทำได้-ไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 4 สมาคมที่เกี่ยวข้องด้านเมล็ดพันธุ์ไทยได้ทำหนังสือส่งถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเแปซิฟิก(CPTPP) เรื่องสนับสนุนการเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่(UPOV 1991) ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ลงนามโดย รศ.ดร.จวงจันทร์  ดวงพัตรา นายกสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย, นายพิเชษฐ์  กรุดลอยมา นายกสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย, ดร.ชัยฤกษ์  สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และดร.กนกวรรณ  ชดเชย ผู้อำนวยการสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก

 

ทั้งนี้ 4 สมาคมมีความเห็นร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า การเข้าร่วม UPOV 1991 (บังคับให้ประเทศสมาชิกCPTPP ต้องเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก) จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์พืชของประเทศไทย พร้อมกับเพิ่มทางเลือกที่ดีในพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรไทย ทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณผลผลิต สิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และราคาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมผ่านกลไกการตลาดที่มีเกษตรกรเป็นส่วนสำคัญ

 

โดยในหนังสือดังกล่าวยังมีการนำเสนอข้อเท็จจริงของ UPOV 1991 และคำชี้แจงประเด็นที่สังคมไทยให้ความสนใจใน 8 ประเด็น เช่น  UPOV 1991 ให้สิทธิประเทศสมาชิกกำหนดรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรของตนเองได้ เนื่องจาก UPOV 1991 เป็นกรอบข้อตกลง ซึ่งประเทศสมาชิกที่ให้การยอมรับ UPOV 1991 จะต้องดำเนินการออกกฎหมายการคุ้มครองพันธุ์พืชของตนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของข้อตกลง โดยที่ UPOV 1991 ยังเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสมาชิกสามารถกำหนดรายละเอียดชนิดพืชหรือขอบเขตการให้ความคุ้มครองให้เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างเป็นธรรมของเกษตรกรในประเทศตน

 

นอกจากนี้ UPOV 1991 ครอบคลุมการคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น โดยไม่รวมถึงพันธุ์พืชดั้งเดิม พันธุ์พืชท้องถิ่น พันธุ์พืชป่า และพันธุ์พืชที่มีการจำหน่ายเกินกว่า 1 ปี, ในกรณีของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองเกษตรกรที่ได้รับพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองมาอย่างถูกต้องสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ที่ได้จากการเพาะปลูกพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับการปลูกในฤดูกาลถัดไปในพื้นที่ของตนเองได้ และสามารถจำหน่ายผลผลิตที่ได้จากการปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองเช่นนี้ถือเป็นการเก็บเพื่อการยังชีพหรือเพื่อการบริโภคในครัวเรือน แต่หากเกษตรกรต้องการที่จะนำเมล็ดพันธุ์ หรือส่วนขยายพันธุ์(เช่น หน่อ กิ่ง)ไปจำหน่าย จะต้องขออนุญาตจากกนักปรับปรุงพันธุ์ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชนั้นก่อน

4 สมาคมเมล็ดพันธุ์ออกโรง หนุนไทยร่วม UPOV 1991

                  ที่มา : สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย

 

 

ส่วนประเด็นเกษตรกรจะถูกจับดำเนินคดีหรือไม่ หากทำการขายต่อเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญา UPOV 1991 หากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในเรื่องการดำเนินคดีนี้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของสิทธิ์ในสายพันธุ์ที่จะสืบหาข้อเท็จจริงและตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่เกิดการละเมิด ทั้งนี้การดำเนินคดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นกรณีที่พิสูจน์ได้ว่า ผู้กระทำความผิด มี “เจตนา” หรือ “ความพยายาม” ที่จะละเมิดเพื่อนำพันธุ์คุ้มครองไปขายเป็นเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นหากพิสูจน์ได้ว่าการได้มาซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่เป็นข้อสงสัยนั้นเป็นไปโดยสุจริต เกษตรกรเหล่านั้นย่อมได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินคดี เป็นต้น

 

อ่านรายละเอียด ของหนังสือ ที่ 4 สมาคม ส่งถึงประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP และคำชี้แจงใน 8 ประเด็นที่สังคมไทยให้ความสนใจได้ ดังนี้ https://medias.thansettakij.com/media/pdf/2020/1593246467.pdf