กสทช.ชี้แบ่งเพลย์เวิร์ค50%เป็นเรื่องของ“อสมท”

19 มิ.ย. 2563 | 13:25 น.

กสทช.ชี้หาก “อสมท” ไม่พอใจเงินเยียวยาคลื่น 2600 ต้องไปฟ้องศาลปกครองเอาเองใน 90 วัน เหตุมติที่ออกไปถือว่าจบแล้วได้ยันไม่เคยมีมติให้แบ่งเงิน“อสมท-เพลย์เวิร์ค” 50 ต่อ 50 ส่วนแบ่งอย่างไรเป็นเรื่อง “อสมท”

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กรณีที่ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ได้แถลงข่าวที่จะอุทธรณ์มติคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ที่ลงมติเรื่องการกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ของ อสมท เพื่อใช้กำหนดค่าทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน การถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ รวมเป็นเงินที่ต้องจ่ายเยียวยาให้แก่อสมทจำนวน 3,235 ล้านบาท

 

โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามในหนังสือแจ้งมติของกรรมการ กสทช. ที่ได้พิจารณากรอบวงเงินเยียวยาชดเชยฯ ส่งไปที่อสมท แล้ว หาก อสมท จะมีการโต้แย้งในส่วนของกรอบวงเงินที่ได้รับ จะต้องไปยื่นฟ้องร้องเอากับศาลปกครองเองภายใน 90 วัน เนื่องจากบอร์ดได้มีมติไปแล้วและเป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยนำผลการศึกษาของสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเยียวยาผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz มาพิจารณาอย่างเป็นธรรม

 

ทั้งนี้ ส่วนประเด็นเรื่องการแบ่งเงินเยียวยากับ อสมท ให้บริษัทคู่สัญญา โดยส่วนนี้บอร์ด กสทช. ได้พิจารณาการแบ่งเงินเยียวยาตามหนังสือที่ อสมท ส่งมาให้สำนักงาน กสทช. แต่ตามที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท ทำหนังสือร้องเรียนมาว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไม่มีอำนาจในการแบ่งเงินเยียวยาเอง สำนักงาน กสทช จะนำเรื่องเสนอที่ประชุมกรรมการ กสทช. ในการประชุมวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ซึ่งที่ประชุมอาจจะพิจารณาประเด็นเรื่องอำนาจในการแบ่งเงินเยียวยาอีกครั้ง โดยพิจารณาว่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท มีอำนาจในการแบ่งเงินเยียวยาตามที่ทำหนังสือแจ้ง กสทช.มาหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ยืนยันว่า บอร์ดจะพิจารณาให้หรือไม่ เนื่องจากการพิจารณาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีหลักฐานหรือข้อมูลข้อเท็จจริงใหม่เพิ่มเติม โดยสำนักงานกสทช.จะรวบรวมเอกสาร ข้อมูลและข้อกฎหมายในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อสรุปข้อเท็จจริงเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดกสทช. พิจารณาว่าควรจะทบทวนความเห็นเรื่องการแบ่งค่าเยียวยาหรือไม่

 

"ถ้า อสมท เห็นว่าการแบ่งเงินมีความไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกเหตุใด อสมท จึงส่งหนังสือแจ้งเรื่องนี้มาที่สำนักงานฯ อสมท คงต้องไปพิจารณาเองปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากปัญหาในการบริหารภายในของ อสมท”

 

ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณาของบอร์ด กสทช.นั้น บอร์ดกสทช.ได้นับเอาระยะเวลาตั้งแต่วันที่ กสทช. มีมติให้คืนคลื่นความถี่จนถึงวันที่ 3 เม.ย.2565 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี รวมกับระยะเวลาการพิจารณาสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวที่ทำให้ อสมท ขาดความชัดเจนในสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว โดยเป็นห้วงเวลาตั้งแต่วันที่แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่มีผลบังคับใช้ ถึงวันที่ อสมท ได้รับทราบสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี 5 เดือน รวมทั้ง 2 ช่วงเวลา เป็นระยะเวลาประมาณ 6 ปี 5 เดือน มูลค่าของการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนจำนวน 3,235 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ นายฐากร ยังได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า ในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทนฯ คณะอนุกรรมการฯ ได้นำรายงานการศึกษาของทั้ง 3 สถาบัน มาพิจารณา แต่ทางคณะอนุกรรมการฯ ไม่เห็นด้วยกับรายงานการศึกษา โดยเฉพาะรายงานของสถาบันการศึกษา 2 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เห็นว่าระยะเวลาที่ อสมท มีสิทธิถือครองคลื่น 2600 MHz อยู่ที่เพียง 3 ปีเท่านั้น

 

ในขณะที่คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า สิทธิในการถือครองคลื่นที่ อสมท มีอยู่ควรจะเป็นระยะเวลา 15 ปี ซึ่งทำให้กรอบวงเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz ที่ อสมท สมควรได้รับจะอยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้านบาท และคณะอนุกรรมการฯ ยังเสนอให้แบ่งเงินเยียวยาระหว่าง อสมท และเพลย์เวิร์ค เป็น 50 ต่อ 50 อีกด้วย

 

นายฐากร กล่าวต่อว่า เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ฯ เสนอแนวทางการเยียวยาคลื่น 2600 MHz ของ อสมท มาให้บอร์ด กสทช.พิจารณา บอร์ดกสทช.ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่คณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทนฯ เสนอ ขณะที่คณะอนุกรรมการกฎหมาย ของ กสทช. ที่มีนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน ได้ตั้งคำถามใน 2 ประเด็น

 

คือ 1.สิทธิในการถือครองคลื่นที่ อสมท ควรจะได้รับการเยียวยาควรเป็นระยะเวลากี่ปี และ 2.บอร์ด กสทช. มีอำนาจในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับ เพลย์เวิร์ค หรือไม่ และอย่างไร

 

“บอร์ด กสทช.ไม่รับผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทนฯ เพราะไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินเยียวยาที่ให้จ่ายให้ อสมท กว่า 1 หมื่นล้านบาท จำนวนปีที่ อสมท มีสิทธิในคลื่นเป็นเวลา 15 ปี และวิธีการแบ่งเงินที่ให้แบ่งเงินระหว่าง อสมท และเพลย์เวิร์ค ฝ่ายละ 50 ต่อ 50 เพราะ กสทช.ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเพลย์เวิร์ค แต่เป็นเรื่องของ อสมท จากนั้นบอร์ด กสทช.ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ คือ สำนักงาน กสทช. ไปศึกษาเรื่องนี้และนำกลับมาเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณาอีกครั้ง”

 

นายฐากร กล่าวว่า หลังจากสำนักงานกสทช. ได้ทำการศึกษาแนวทางการเยียวยาตามที่บอร์ด กสทช. มอบหมายแล้ว ก็ได้เสนอแนวทางเยียวยาใหม่มาให้บอร์ด กสทช. พิจารณา ซึ่งมี 3 แนวทาง คือ แนวทางแรกให้นับเวลาสิทธิการถือครองคลื่นของ อสมท เป็นเวลา 3 ปี โดยเริ่มนับจากวันที่ อสมท และเพลย์เวริ์ค เริ่มประกอบกิจการบนคลื่น 2600 MHz ได้จริง

 

แนวทางที่ 2 ให้นับเวลาที่ อสมท ได้สิทธิถือครองคลื่นเป็นระยะเวลา 6 ปี 5 เดือน ซึ่งเริ่มนับจากปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ให้ อสมท ดำเนินธุรกิจบนคลื่น 2600 MHz ได้ แม้ว่าขณะนั้นการดำเนินธุรกิจจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะติดปัญหาการนำเข้าอุปกรณ์ตาม โดยให้นับไปถึงปี 2565

 

และแนวทางที่ 3 ให้นับระยะเวลาที่ อสมท มีสิทธิถือครองคลื่น 10 ปี โดยเริ่มนับจากปี 2555 ถึง 2565 ซึ่งทางสำนักงานเห็นว่า เป็นไปได้น้อย

 

อย่างไรก็ดี บอร์ด กสทช. ได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้เลือกแนวทางที่ 2 คือ กำหนดระยะเวลาถือครองคลื่นของ อสมท ไว้ที่ 6 ปี 5 เดือน และให้จ่ายเงินเยียวยา อสมท ที่ 3,200 ล้านบาท

 

นายฐากร ระบุว่า จากนั้นบอร์ด กสทช. เชิญนายเขมทัตต์ มาชี้แจงว่า จะมีการแบ่งเงินเยียวยาให้คู่สัญญา คือ เพลย์เวิร์ค ที่ได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ เพราะบอร์ด กสทช. ไม่รู้ว่าเพลย์เวิร์ค ลงทุนอะไรไปแล้วบ้างและเท่าไหร่แล้ว อีกทั้งตามข้อกฎหมาย แม้จะมีการระบุว่า เมื่อเรียกคืนคลื่นแล้วจะต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่กฎหมายมีการระบุชัดเจนว่า จะเยียวยาหรือไม่เยียวยาก็ได้

 

ต่อมานายเขมทัตต์ ได้มีหนังสือ อสมท ที่ นร 6100/1250 ลงวันที่ 4 มิ.ย.2563 ถึงบอร์ด กสทช. ขอให้แบ่งเงินระหว่าง อสมท และเพลย์เวิร์ค เท่าๆกัน พร้อมทั้งระบุว่าได้รับมอบอำนาจจากประธานบอร์ด อสมท แล้ว

 

“ บอร์ด กสทช.ไม่ได้มีมติเห็นชอบตามหนังสือที่นายเขมทัตต์ ส่งมา เพียงแต่รับทราบเท่านั้น ดังนั้น เมื่อ อสมท ได้เงินเยียวยาไปแล้ว อสมท จะไปแบ่งให้เพลย์เวิร์คอย่างไร ก็เป็นเรื่องของ อสมท ไม่เกี่ยวกับบอร์ด กสทช. แต่อย่างใด แต่หาก อสมท ไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ด กสทช. ที่ให้จ่ายเงินเยียวยา 3,200 ล้านบาท ก็ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง” นายฐากร ระบุ